กปม. รับนโยบาย รมว.กษ. คุ้มครองแหล่งวางไข่สัตว์น้ำ

205

กรมประมงขานรับนโยบาย รมว.กษ. คุ้มครองแหล่งวางไข่สัตว์น้ำฝั่งอันดามันตั้งแต่ 1 เม.ย – 30 มิ.ย 67 ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์

กรมประมงเตรียมประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2567 ช่วงระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน 2567 ในเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร เพื่อควบคุมการทำประมง หวังสร้างความอุดมสมบูรณ์และคงความสมดุลทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยผลสำรวจปีที่ผ่านมาชี้ว่า ในช่วงเวลาการบังคับใช้มาตรการ พบสัตว์น้ำชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีความสมบูรณ์เพศสูง และสัตว์น้ำวัยอ่อนมีความชุกชุม และแพร่กระจายหนาแน่นในพื้นที่มาตรการ สอดคล้องกับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เน้นย้ำให้คุ้มครองทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืนสู่ลูกหลานต่อไป

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนเมษายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณฝั่งทะเลอันดามัน เริ่มมีการผสมพันธุ์วางไข่และเลี้ยงตัวอ่อน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมประมงมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในเรื่องการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ และคงความสมดุลทางธรรมชาติและระบบนิเวศให้ยั่งยืน จึงได้มีการกำหนดและประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามันมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2528 ในช่วงเมษายนถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นระยะเวลา 90 วัน โดยได้กำหนดเงื่อนไขการทำประมงในเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร ร่วมกับการรวบรวมและวิเคราะห์ผลข้อมูลทางวิชาการที่มีความสม่ำเสมอ  เพื่อนำมาปรับปรุงมาตรการให้ตอบสนองต่อสภาพการณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำปัจจุบันอย่างเหมาะสม

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง

อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการศึกษาทางวิชาการในปี พ.ศ. 2566 โดยกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทรัพยากรสัตว์น้ำจากเรือสำรวจประมงและเครื่องมือประมงพาณิชย์   ระบุว่า ในช่วงเวลาระหว่างมาตรการฯ (เมษายน-มิถุนายน) สัตว์น้ำชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปลาผิวน้ำ  อาทิ ปลาทู ปลาลัง ปลาสีกุนบั้ง และปลาหลังเขียว มีความสมบูรณ์เพศสูงถึงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สัตว์น้ำวัยอ่อนทั้งหมดมีความชุกชุมและการแพร่กระจายหนาแน่นสูงในพื้นที่และช่วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะเดือนมิถุนายน ที่มีความหนาแน่นของสัตว์น้ำวัยอ่อนทั้งหมดสูงสุด 5,161 ตัว/1,000 ลูกบาศก์เมตร และเมื่อพิจารณาอัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมดเฉลี่ยจากเรือสำรวจประมงที่ทำการสำรวจในเขตมาตรการ พบว่า ช่วงก่อนมาตรการ ระหว่างมาตรการ และหลังมาตรการ มีอัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมดเฉลี่ย เท่ากับ 48.117 กิโลกรัม/ชั่วโมง 114.925 กิโลกรัม/ชั่วโมง   และ 316.600 กิโลกรัม/ชั่วโมง ตามลำดับ ซึ่งในระหว่างมาตรการ อัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมดเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.3 เท่า และหลังมาตรการอัตราการจับสัตว์น้ำทั้งหมดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 6.5 เท่า ของช่วงก่อนมาตรการ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า มาตรการปิดอ่าว สามารถทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่มาตรการมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ และช่วงเวลามาตรการฯ ที่กำหนดขึ้น มีความถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับช่วงเวลาสัตว์น้ำที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและคงความสมดุลทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน

สำหรับมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนฝั่งทะเลอันดามันประจำปี พ.ศ. 2567 นี้ จะถูกใช้ในระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน 2567 โดยกำหนดชนิดของเครื่องมือประมง วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขที่ให้ชาวประมงสามารถทำการประมงได้ในช่วงประกาศใช้มาตรการฯ มีดังนี้

             1. เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 14 เมตร และต้องทำการประมงในเวลากลางคืนนอกเขตทะเลชายฝั่ง

             2. เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตัก ทำการประมงเฉพาะในเวลากลางวัน และต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

             3. เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีขนาดช่องตาอวน ตั้งแต่ 4.7 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวอวนไม่เกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และเครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีช่องตาอวนตั้งแต่  4.7 เซนติเมตรขึ้นไป มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

             4. เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง อวนหมึก

             5. เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ)   ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

             6. ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลำ ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และลอบปูที่มีขนาดช่องตาท้องลอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

             7. ลอบหมึกทุกชนิด

             8. ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่ง

             9. คราดหอยที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 18 เมตร มีความกว้างของปากคราดไม่เกิน 3.5 เมตร ช่องซี่คราดไม่น้อยกว่า 1.2 เซนติเมตร และจำนวนของเครื่องมือคราดหอยต้องไม่เกิน 3 อัน (หน่วย) ต่อเรือกล 1 ลำ ที่ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกตามความในมาตรา 71 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558

             10. อวนรุนเคย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกตามความในมาตรา 68 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558

             11. จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก แผงยกปูจักจั่น

             12. เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง

             13. การใช้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงอื่นใดที่มิใช่เครื่องมือประมง ซึ่งได้แก่ 1) อวนลากคู่ อวนล้อมจับ (มีสายมาน) อวนล้อมจับปลากะตัก คราดทุกชนิดประกอบเรือกล และเรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) 2) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) และ 3) เครื่องมือต้องห้ามทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง ตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ที่ออกตามความในมาตรา 71 แห่งพระราชกำหนด การประมง พ.ศ.2558

การทำการประมงโดยใช้เครื่องมือในข้อ 3, 4, 5, 6 และ 7 จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ที่ออกตามความในมาตรา 71 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมง ตามมาตรา 67 69 ทั้งนี้ หากพบการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายจะเป็นความผิดตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมงหรือมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้“การละเมิดกฎหมายจะส่งผลให้เกิดความเสียหายไม่เพียงแค่ในระดับบุคคล แต่ยังส่งผลกระทบกับความมั่นคงของอาชีพประมงและสภาพแวดล้อมทางทะเลอันดามัน กรมประมงขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงทุกท่านที่ร่วมกันให้ความร่วมมือและรับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามกฎหมายในมาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน อันจะนำมาซึ่งความความสมบูรณ์ที่ยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและเจริญรุ่งเรืองของวงการประมงไทยในอนาคตต่อไป” อธิบดีกรมประมง กล่าว

กรมประมง