สสก. 5 ผลักดันสินค้า ทุเรียน มังคุด กล้วยหอมทอง

200

เกษตรเขต 5 ผลักดันสินค้า ทุเรียน มังคุด กล้วยหอมทอง ของแปลงใหญ่สู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง

นายวุฒิศักดิ์  เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ด้านพืช แมลงเศรษฐกิจ และบริการเชิงสร้างสรรค์ ในส่วนของภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา จะดำเนินการนำร่อง ยกระดับและต่อยอด ในกลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อส่งออก ที่มีการรวมกลุ่มกันผลิต รวมกลุ่มกันจำหน่าย และมีตลาดในต่างประเทศ และได้คัดเลือกสินค้าของกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่จำนวน 8 แปลง 3 ชนิดสินค้า จาก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง นครศรีธรรมราช และจังหวัดชุมพร ดังนี้

          กล้วยหอมทอง จำนวน 2 แปลง จากกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งคาวัด อำเภอละแม จังหวัดชุมพร และแปลงใหญ่กล้วยหอมตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

          ทุเรียน จำนวน 2 แปลง จากแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านห้วยทรายขาว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และแปลงใหญ่ทุเรียนหมู่ที่ 12 ตำบลตะโก อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร

มังคุด จำนวน 4 แปลง ได้แก่ แปลงใหญ่มังคุดตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร แปลงใหญ่มังคุดตำบลยางค้อม อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช แปลงใหญ่มังคุดตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช และแปลงใหญ่มังคุดหมู่ 8 ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง

          ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของแปลงเกษตรกร ทางด้านกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อประเมินความเหมาะสมสู่การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรโดยมีแนวทางการขับเคลื่อน คือ พัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการส่งออก ขยายตลาดและขยายฐานการผลิตเพื่อการส่งออก สนับสนุนกลไกการรวบรวม การคัดบรรจุ การขนส่งเพื่อการส่งออก อำนวยความสะดวกการตรวจรับรองมาตรฐาน มาตรการทางภาษี การขนส่งสินค้าข้ามแดน และอื่น ๆ

นายวุฒิศักดิ์  เพชรมีศรี
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา

นายวุฒิศักดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” เป็นการบูรณาการแผนงานและงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ในระดับพื้นที่ (ตำบล) อย่างแท้จริง ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถวิเคราะห์ศักยภาพและโอกาส วางแผนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตของกลุ่มเกษตรกร เพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรและบริการเชิงสร้างสรรค์ การบริหารงาน และการมีส่วนร่วมตั้งแต่ในระดับพื้นที่ถึงระดับส่วนกลางในการขับเคลื่อนและพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข็มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2570) มีเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดโครงการสามารถสร้างสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูงด้านพืช แมลงเศรษฐกิจ และบริการเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งด้านปศุสัตว์ และด้านประมง ได้ไม่น้อยกว่า 500 ตำบล เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2570 สามารถลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดได้ในระยะยาว กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเอง และสามารถขยายผลสู่เกษตรกรกลุ่มอื่นได้

ในภาพรวมของกรมส่งเสริมการเกษตร ขับเคลื่อนนโยบายโดยการคัดเลือกพื้นที่และสินค้าเกษตร มูลค่าสูง จำนวน 83 กลุ่ม ที่มีศักยภาพ ประกอบไปด้วยสินค้า 16 ชนิดพืช จาก 82 ตำบล 77 อำเภอ 40 จังหวัด โดยมี 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อส่งออก เป็นสินค้าเกษตรที่มีการส่งออก มีการรวมกลุ่มการผลิตในรูปแบบกลุ่มเกษตรกรสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน แปลงใหญ่ หรือ กลุ่มเครือข่าย Smart Farmers , Young Smart Farmers มีมาตรฐานการส่งออก กลุ่มที่ 2 กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เป็นสินค้าที่เกษตรกรมีการรวมกลุ่มการผลิตในรูปแบบกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน แปลงใหญ่ หรือ กลุ่มเครือข่าย Smart Farmers , Young Smart Farmers และมีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อการส่งออกหรือแปรรูป เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด ข้าว กาแฟ สินค้าปศุสัตว์ สินค้าประมง เป็นต้น กลุ่มที่ 3 กลุ่มสินค้าเกษตรและบริการเชิงสร้างสรรค์ มีการผลิตและบริหารจัดการโดยกลุ่มเกษตรกรสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน แปลงใหญ่ หรือกลุ่มเครือข่าย Smart Farmers , Young Smart Farmers มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น GI , สมุนไพร , เกษตรอินทรีย์ , functional food, Plant based  เป็นสินค้าสะท้อนเอกลักษณ์และเสน่ห์ชุมชน เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือ อื่นๆ เช่น แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แหล่งท่องเที่ยววนเกษตร สามารถยกระดับ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของชุมชน 

กรมส่งเสริมการเกษตร