สศท.1 ติดตามสถานการณ์ผลิตถั่วลิสง 4 จว. ภาคเหนือ

305

สศท.1 ติดตามสถานการณ์ผลิตถั่วลิสง 4 จว. ภาคเหนือ พืชเศรษฐกิจที่น่าจับตา เกษตรกรในพื้นที่รวมกลุ่มผลิต ยกระดับคุณภาพสินค้า

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ถั่วลิสงเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง มีศักยภาพและมีโอกาสทางการตลาด เกษตรกรปลูกอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศ แหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ถั่วลิสงอย่างหลากหลาย ทั้งในรูปการบริโภคโดยไม่ผ่านการแปรรูป (ถั่วต้มสุก) และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่า ถั่วลิสงจึงเป็นพืชหนึ่งทางเลือกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรสามารถเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งในสถานการณ์ปกติและในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (เอลนีโญ) เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกข้าว

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

สศท.1 ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตถั่วลิสงในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน และพะเยา พบว่า ในปี 2566 มีพื้นที่ปลูกรวม 6,939 ไร่ (เชียงใหม่ 1,612 ไร่ , ลำปาง 1,818 ไร่ , แม่ฮ่องสอน 1,893 ไร่ และพะเยา 1,616 ไร่) ผลผลิตรวม 5,604 ตัน/ปี (เชียงใหม่ 1,628 ตัน , ลำปาง 1,084 ตัน , แม่ฮ่องสอน 1,321 ตัน และพะเยา 1,571 ตัน) ผลผลิตถั่วลิสงสดทั้งเปลือกเฉลี่ย 808 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งในแต่ละปีเกษตรกรจะทำการเพาะปลูกถั่วลิสง 2 รุ่น คือ ถั่วลิสง รุ่น 1 (ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน) ปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคมของปีเดียวกัน เก็บเก็บช่วงเดือนกรกฎาคม -มกราคมของปีถัดไป และถั่วลิสง รุ่น 2 (ฤดูแล้ง) ปลูกระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เมษายนของปีถัดไป (หลังนา) เก็บเกี่ยวช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 90 – 120 วัน ราคาขายถั่วลิสงสดทั้งเปลือกเฉลี่ย (ราคา ณ กุมภาพันธ์ 2567)25 บาท/กิโลกรัม ด้านสถานการณ์ตลาดถั่วลิสงของทั้ง 4 จังหวัด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เป็นตลาดถั่วลิสงสดที่นำไปต้ม โดยพ่อค้าจะเข้ามารับซื้อผลผลิตในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวถั่วลิสง แล้วนำไปส่งต่อยังตลาดไทย ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดในภาคอีสาน ผลผลิตร้อยละ 30 เกษตรกรขายเป็นถั่วลิสงตากแห้ง ส่งขายให้กับบริษัท/อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และส่วนหนึ่งเก็บไว้ทำพันธุ์

นอกจากนี้ จากการติดตามของสศท.1 ยังพบว่า เกษตรกรในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้มีการรวมกลุ่มแปลงใหญ่และกลุ่มวิสาหกิจ ร่วมกันผลิตและจำหน่ายผลผลิตถั่วลิสง ซึ่งมีทั้งจำหน่ายในรูปแบบถั่วลิสงเมล็ดพันธุ์ ถั่วลิสงฝักสด และถั่วลิสงแปรรูป โดยเป็นกลุ่มต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ มีศักยภาพการผลิตในพื้นที่ มีความชำนาญในการเพาะปลูก ได้แก่ แปลงใหญ่ถั่วลิสงอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่เพาะปลูก 338 ไร่ สมาชิก 75 ราย ได้ผลผลิตรวม 355 ตัน/ปี , วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ถั่วลิสงตำบลสะเมิงเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่เพาะปลูก 120 ไร่ สมาชิก 50 ราย ได้ผลผลิตรวม 144 ตัน/ปี , แปลงใหญ่ถั่วลิสง ตำบลเสริมกลาง จังหวัดลำปาง พื้นที่เพาะปลูก 390 ไร่ สมาชิก 74 ราย ได้ผลผลิตรวม 341 ตัน/ปี , แปลงใหญ่ถั่วลิสง ตำบลเสริมซ้าย จังหวัดลำปาง พื้นที่เพาะปลูก 310 ไร่ สมาชิก 108 ราย ได้ผลผลิตรวม 233 ตัน/ปี , แปลงใหญ่ถั่วลิสงบ้านสถาน 2 จังหวัดพะเยา พื้นที่เพาะปลูก 300 ไร่ สมาชิก 40 ราย ได้ผลผลิตรวม 292 ตัน/ปี และแปลงใหญ่ถั่วลิสงลายเสือ บ้านหนองผาจ้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่เพาะปลูก 500 ไร่ สมาชิก 40 ราย ได้ผลผลิตรวม 650 ตัน/ปี                           

“ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้ถั่วลิสงอย่างต่อเนื่อง แต่ผลผลิตภายในประเทศยังมีไม่เพียงพอ จึงต้องอาศัยการนำเข้าร้อยละ 80 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายสำคัญที่จะเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตถั่วลิสง หวังลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เพิ่มผลผลิตและสร้างความเข้มแข็งภายใต้บริบทของพื้นที่ ซึ่งแต่ละจังหวัดก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตถั่วลิสงในรูปแบบแปลงใหญ่ทั้งในส่วนของการผลิตเมล็ดพันธุ์ และการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพและรวบรวมผลผลิตเพื่อจำหน่าย อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกษตรกรแปรรูปเพิ่มมูลค่าถั่วลิสงให้เป็นผลิตภัณฑ์ของดีประจำจังหวัด” ผู้อำนวยการ สศท.1 กล่าวทิ้งท้าย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร