กล้วยหอมทองปทุมธานี สินค้าเกษตรที่ตลาดต้องการ

469

“ผลใหญ่ยาว ผิวนวล เนื้อแน่น เปลือกบาง” กล้วยหอมทองปทุมธานี สินค้าเกษตรมูลค่าสูงที่ตลาดต้องการ

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ติดตาม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งขับเคลื่อนงานระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ด้วยเศรษฐกิจแบบองค์รวม และกำลังพัฒนายกระดับสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ในโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กล้วยหอมทองของจังหวัดปทุมธานีเป็นสินค้าคุณภาพได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศส่งออกกล้วยหอมทองที่สำคัญ และแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ก็เคยมีการส่งออกกล้วยหอมไปยังประเทศญี่ปุ่นก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโรค Covid-19 เช่นเดียวกัน จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการรวมกลุ่มกล้วยหอมคุณภาพและผลักดันให้เป็นสินค้าส่งออกและส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กล้วยหอม เป็นผลไม้ที่ประกอบไปด้วยน้ำตาลธรรมชาติ ซูโครส ฟรุกโตส และกลูโคส อีกทั้งยังมีเส้นใยอาหารรวมทั้งวิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ หลายชนิด กล้วยหอมยังไม่เพียงแค่กลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ แต่ยังช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายได้อีกด้วย รวมทั้งมีสารต้านสารอนุมูลอิสระได้ดี กล้วยหอมจึงเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนออกกำลังกาย และลดน้ำหนัก ทั้งผู้บริโภคภายในและต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยสามารถผลิตกล้วยหอมทอง 1.07 ล้านตัน/ปี ส่งออกไปจำหน่ายเป็นผลสด 1.8 แสนตัน/ปี ตลาดต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จำหน่ายภายในประเทศ 8.95 แสนตันต่อปี จากปี 2566 กล้วยหอมไทยที่จำหน่ายในประเทศมีอัตราการเติบโต 6.2 % ส่วนต่างประเทศมีอัตราการเติบโต 11.1% สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตร จึงแปลงแนวนโยบาย 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ไปสู่การปฎิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยมีตัวอย่างการขับเคลื่อนแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตกล้วยหอมที่มีคุณภาพมาตรฐานแห่งหนึ่งของประเทศ โดยมีการผลิตกล้วยหอมทอง 3,150 ตันต่อปี ในพื้นที่ 1,066 ไร่ และ จำหน่ายในลักษณะทำความตกลงซื้อขายล่วงหน้ากับผู้รวบรวม คัด ตัดแต่ง เป็น ผลสดไปยังตลาดภายในประเทศ ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ตลาดมหานาค กทม. ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และ Modern Trade คิดเป็นมูลค่า 31.50 ล้านบาทต่อปี สร้างรายได้แก่สมาชิกแปลงใหญ่ นอกจากนั้น ยังแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มโดยผลิตเป็นกล้วยหอมแผ่น ตรา “หอมนอกกรอบ” ซึ่งอยู่ระหว่างการขอรับรองมาตรฐานเพื่อจำหน่ายในตลาด Modern Trade และตลาดออนไลน์ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์กล้วยหอมชนิดใหม่ “กล้วยป๊อบ“ เพื่อทำตลาด กลุ่มอาหารว่างเพื่อสุขภาพ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกระแสของผู้บริโภค ได้ให้ความสนใจและตระหนักถึงคุณค่าอาหารที่รับประทานมากขึ้น โดยหันมาเลือกของที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อันเป็นกลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง และลดปริมาณการสูญเสียสูญเปล่าในกระบวนการผลิต อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังสร้างความหลากหลายของสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ (สัตว์น้ำ ไม้ผลพื้นถิ่น และ พืชผักสวนครัว) สามารถสร้างรายได้เสริมที่เป็นกอบเป็นกำ ตลอดจนเกิดความสมดุลของระบบนิเวศน์ในแปลง ให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารและสิ่งมีชีวิตในดิน เป็นการเกษตรที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งนี้ แปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เป็นหนึ่งในผู้ผลิตกล้วยหอมที่มีคุณภาพมาตรฐาน แห่งหนึ่งของประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมการทำเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ มีการทำแผนและปฏิทินร่วมกัน เพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด ใช้หลักตลาดนำการผลิตวางแผนการปลูกทำให้สินค้ามีตลาดรองรับที่แน่นอน ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิก 23 ราย พื้นที่ปลูกรวม 800 ไร่ สมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต GAP แล้วจำนวน 13 ราย พื้นที่ 542 ไร่ และมีสมาชิกได้การรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI “กล้วยหอมทองปทุม” จำนวน 21 ราย พื้นที่ 1,203 ไร่ โดยกลุ่มมีแผนที่จะพัฒนาให้เกษตรกรในกลุ่มแปลงใหญ่ทุกคนได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งหมด

กรมส่งเสริมการเกษตร