กรมส่งเสริมการเกษตร แนะเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ผักพันธุ์ดี ช่วยลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ ในครัวเรือน
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพย่อมส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการเสียเวลาและแรงงานในการปลูกซ่อม ทำให้ปลูกได้ล่าช้ากว่าฤดูปลูกที่เหมาะสม ตลอดจนจำเป็นต้องลงทุนค่าเมล็ดพันธุ์เพิ่มมากขึ้นเกินความจำเป็น เนื่องจากต้องใช้ปริมาณสูงกว่าปกติรวมทั้งส่งผลให้ได้ผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพและปริมาณน้อย เมล็ดพันธุ์ที่ด้อยคุณภาพย่อมได้ต้นพันธุ์ที่อ่อนแอเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงศัตรูพืชตามมา การเลือกใช้พืชพันธุ์ดี จึงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการเพาะปลูก เพื่อให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด ส่งผลให้สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่ดี ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองขยายพันธุ์พืช และศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 ศูนย์ เห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงพืชพันธุ์ดี จึงได้ดำเนินการผลิตขยายพืชพันธุ์ดีใน 4 สายการผลิต ได้แก่ พืชพันธุ์ดีจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ และเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในภาคการเกษตร
สำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพันธุ์ดีกระจายสู่เกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตรมีการควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ลักษณะตรงตามสายพันธุ์ สะอาด ปราศจากสิ่งเจือปนต่าง ๆ ทั้งวัชพืช โรคและแมลง รวมถึงการตรวจสอบอัตราความงอกให้ได้ตามมาตรฐาน จึงจำเป็นต้องมีการดูแลการผลิตและมีข้อปฏิบัติในการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ ดังนี้
1. การวางแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ ต้องจัดทำล่วงหน้าก่อนการผลิตโดยอาศัยการสำรวจข้อมูลจากเกษตรกร อาทิ ความต้องการใช้ ช่วงเวลาใช้ รวมทั้งกำลังการผลิต เพื่อกำหนดแผนสำหรับจัดทำแปลงขยายพันธุ์ให้พร้อมกับช่วงเวลาเพาะปลูก
2. การจัดทำแปลงขยายพันธุ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ ต้องคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ควบคุมการปฏิบัติดูแลแปลงโดยเฉพาะการตรวจถอนพันธุ์ปนเพื่อคงความบริสุทธิ์ของพันธุ์
3. การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ เป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ที่ดีต้องมีการสูญเสียน้อยทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ คือ เมล็ดต้องตกหล่นสูญหายน้อย เมล็ดที่เก็บเกี่ยวได้แตกหักและบอบช้ำน้อย เมล็ดมีความชื้นพอเหมาะ มีความงอกและความแข็งแรงสูง โดยต้องเก็บเกี่ยวในอายุที่เหมาะสมกับชนิดของเมล็ดนั้น ๆ ซึ่งการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ มี 2 วิธี คือการเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคน และเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักร โดยควรเก็บเกี่ยวในช่วงเช้า เมล็ดจะได้รับความเสียหายน้อยกว่าช่วงบ่าย เนื่องจากเมล็ดยังคงมีความชื้นสูง การบอบช้ำเสียหายของเมล็ดจึงค่อนข้างต่ำ
4. การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ เป็นการยกระดับคุณภาพและกำจัดสิ่งไม่พึงประสงค์ออกไปจากเมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวมาจากแปลงพันธุ์ เช่น เมล็ดวัชพืช เมล็ดพืชอื่น เมล็ดเป็นโรค เศษซากพืชและกรวด หิน ดิน ทราย เป็นต้น เพื่อให้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพตามมาตรฐาน
5. การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษาที่ดีต้องเก็บในสภาพอากาศที่แห้งและเย็นจะช่วยยืดอายุของเมล็ดพันธุ์ได้ยาวนานขึ้น
6. การควบคุมและตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ เพื่อยืนยันความมั่นใจว่าเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้มีคุณภาพดีอยู่ในมาตรฐานที่กำหนด ภายใต้การดำเนินงานตามหลักวิชาการก่อนการแพ็คบรรจุลงซอง
กรมส่งเสริมการเกษตรขอเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาใช้เมล็ดผักพันธุ์ ซึ่งสามารถขอรับเมล็ดผักพันธุ์ดี เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วฝักยาวไร้ค้าง พริก มะเขือเปราะ ถั่วพู กระเจี๊ยบเขียว ผักบุ้ง คะน้า และกวางตุ้ง เป็นต้น ได้ที่จุดบริการพืชพันธุ์ DOAE ณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 ศูนย์ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ตรัง นครราชสีมา นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ มหาสารคาม ลำพูน สุพรรณบุรี และอุดรธานี ในวัน – เวลาราชการ หรือหากต้องการพืชพันธุ์ดีจากการสายการผลิตอื่น (เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต้นพันธุ์ และท่อนพันธุ์) สามารถสั่งซื้อได้ที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 ศูนย์ หรือสั่งจองได้ที่ “DOAE Marketplace” เว็บไซต์ www.doae.go.th/doae_marketplace
กรมส่งเสริมการเกษตร