เกษตรเขต 5 สงขลา สร้างการรับรู้หยุดเผา

181

เกษตรเขต 5 สงขลา การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดสงขลา และเทศบาลตำบลปริก บูรณาการ “สร้างการรับรู้หยุดเผา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษกิ่งไม้ยางพารา”

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควันขนาดเล็ก PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน ด้วยการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจทั้งทางบวกและทางลบในภาคเกษตรกรรม การใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อประมวลผลและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการสร้างความร่วมมือ กับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจัดตั้งกลไกในการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญนี้ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อนโยบายซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลและของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่เป็นแปลงยางพาราและปาล์มน้ำมัน ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรในเขตภาคใต้ จำนวนกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ คือการเผาเศษวัสดุหลังจากการโค่นยางพารา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น เศษใบยางพารา รากยาง และกิ่งแขนงหรือลำต้นยางพารา ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2 นิ้ว ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ถูกรับซื้อ เกษตรกรจึงใช้วิธีการเผาเพราะเป็นวิธีการที่สะดวกและต้นทุนต่ำ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปลูกพืชทดแทนต่อไป อีกทั้งการหยุดเผาในพื้นที่เกษตรและการนำเศษวัสดุต่าง ๆ ในแปลงยางพารามาใช้ประโยชน์ ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรและผู้รับเหมา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อจะได้เป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน เพื่อลดการเผาในพื้นที่เกษตรได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ดำเนินการเชิงรุกโดยบูรณาการการทำงานร่วมกับการยางแห่งประเทศไทยภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ตอนกลาง และภาคใต้ตอนล่าง สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 11 และเขต 12 และสำนักงานเกษตรจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ ได้ประสานความร่วมมือและบูรณาการสร้างการรับรู้การหยุดเผาในพื้นที่เกษตร โดยได้จัดการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการเยี่ยมชมแปลงสาธิต “สร้างการรับรู้หยุดเผา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษกิ่งไม้ยางพารา” เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ณ แปลงยางพาราสาธิต หมู่ที่ 2 ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการปลูกทดแทนของ กยท. ตัวแทนผู้ประกอบการ ตัวแทนผู้รับเหมาการจัดการสวนยาง ตัวแทนองค์กรเกษตรกร ศจช. ศดปช. เกษตรอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดสงขลา และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สำหรับแนวทางในการลดการเผาและการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษไม้ยางพารา

1. การนำเศษกิ่งไม้ กิ่งแขนง มาเผาเป็นถ่านไบโอชาร์ (Biochar) การเผาเป็นการใช้เตาที่ผลิตจากถัง 200 ลิตร ซ้อนทับกับถัง 100 ลิตร เป็นเตาแบบตั้ง กระบวนการเผาแบบอบไล่ความชื้นออก โดยวัสดุที่ต้องการทำถ่านชีวภาพจะไม่สัมผัสกับไฟโดยตรง เป็นการให้ความร้อนแบบมวลชีวภาพ (biomass) โดยไม่ใช้ออกซิเจน หรือใช้น้อยมากในการเผาไหม้ เรียกกระบวนการนี้ว่า ไพโรไลซิส (pyrolysis) จะได้ก๊าซผสมไฮโดรคาร์บอน ของเหลวคล้ายน้ำมัน กรดอะซิติก อะซิโตน เมทานอล และของแข็งคาร์บอน ซึ่งเรียกว่า ถ่านชีวภาพ (Biochar) ซึ่งนิยมนำมาใช้เป็นสารปรับปรุงดินสำหรับการเกษตร สามารถเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดินได้ สามารถปรับปรุงสมบัติทางเคมีของดิน เช่น ปรับสภาพความเป็นกรด ดูดยึดธาตุอาหารในดิน เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ในดินโดยเป็นแหล่งที่อยู่ และทางด้านฟิสิกส์หรือกายภาพ เพิ่มการดูดยึดน้ำในดิน ทำให้ดินร่วนซุย ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตแบบสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ชะงักการเจริญเติบโตแม้ในช่วงหน้าแล้ง

2. การจัดการไม้ยางพาราที่ไม่สามารถนำไปขายได้ โดยการทำการเกษตรแบบเกษตรเนินดิน หรือฮูกูลคัลเจอร์ (Hugelkultur) เป็นการใช้ท่อนไม้ กิ่งไม้ เศษใบไม้ใบหญ้าต่าง ๆ มากองเป็นฐาน ก่อเป็นแปลงให้สูงขึ้นเพื่อใช้ในการปลูกผัก วัสดุที่ทับถมเป็นกองสุมจะเกิดกระบวนการย่อยสลายเป็นระยะเวลานาน ทำให้ปลดปล่อยสารอาหารออกมาอย่างช้า ๆ และช่วยเก็บกักธาตุอาหารส่วนเกินไว้ในดินด้านบน แทนที่จะถูกชะลงสู่ชั้นดินด้านล่างหรือน้ำใต้ดิน จึงเป็นแหล่งของสารอาหารสำหรับพืชที่มั่นคงในระยะยาว ประโยชน์หลักๆ ของแปลงฮูกูล คือ การเก็บกักน้ำได้ดีกว่าการปลูกบนดินอย่างเดียว เศษไม้ผุที่ถูกฝังดินจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนเหมือนฟองน้ำ ทำให้มีน้ำสำหรับให้รากพืชดูดซึมได้ตลอดเวลา ในขณะที่วัสดุอื่น ๆ ที่ย่อยสลายเร็วจะวางไว้ข้างบน เมื่อเริ่มย่อยสลายจะเกิดสภาวะร้อนขึ้นและเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ที่ดีที่จะคอยช่วยทำให้ท่อนไม้และวัสดุต่าง ๆ ย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ จนทำให้เกิดเป็นฮิวมัสซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่เกิดจากการทับถมและย่อยสลายของซากพืช กระบวนการย่อยสลายจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นระยะเวลานาน จึงแทบไม่ต้องมีการรดน้ำและใส่ปุ๋ย

3. การฝังกลบเพื่อทำปุ๋ยหมัก โดยราดรดด้วยสารเร่งซุปเปอร์ พด.๑ สร้างธาตุอาหารในดินให้แก่แปลงเกษตรช่วยในการลดการใช้ปุ๋ย ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย โดยสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และอุตสาหกรรมแปรรูป ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อผลิตปุ๋ยหมักในเวลารวดเร็วและมีคุณภาพสูงขึ้น ประกอบด้วยเชื้อรา และแอคติโนมัยซีส ที่ย่อยสารประกอบเซลลูโลส และแบคทีเรียที่ย่อยไขมัน จะทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี ลดปริมาณขยะและการเผาทำลาย

นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก

ด้าน นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก กล่าวว่า เทศบาลตำบลปริก ได้มีการดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม มีการรณรงค์ส่งเสริมให้ลดการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในเรือกสวนไร่นา ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในด้านของการนำเศษวัสดุเหลือใช้หลังจากการโค่นยางพารามาแปรรูปหรือใช้ประโยชน์เพื่อลดการเผานั้น เทศบาลตำบลปริก มีความพร้อมที่จะเป็นพื้นที่นำร่องเพื่อเป็นต้นแบบในด้านการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน โดยใช้แนวทาง BCG Model เป็นแนวทางในการขับเคลื่อน ซึ่งเทศบาลตำบลปริก มีความพร้อมในการดำเนินการขับเคลื่อน โดยในด้านการสร้างการรับรู้และการฝึกอบรม มหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Prik University of Wisdom and Technology for Sustainable Development : Prik USD) ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยในการฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ให้กับเกษตรกรผู้สนใจทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ เช่น การนำเศษไม้ไปทำเป็นปุ๋ย การนำเศษวัสดุไปแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นศูนย์กลางในการระดมความคิด การปรับเปลี่ยนทัศนคติ ในการร่วมกันคิด ร่วมกันต่อยอด รวมถึงการจัดทำโมเดลในการขับเคลื่อน “สวนยางยั่งยืน” เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมร่วมกัน

“ปัญหาฝุ่น pm 2.5 เป็นปัญหาของชาติและของโลก ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี แม้ว่าในพื้นที่เขตภาคใต้จะยังไม่พบปัญหาค่ามลพิษทางอากาศที่สูงเกินค่ามาตรฐาน แต่การเผา ไม่ว่าจะเป็นการเผาสิ่งใด ก็ล้วนสร้างฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศได้มากแม้ว่าเราจะมองไม่เห็น เราทุกคนจึงจำเป็นต้องหาแนวทางนำวัสดุต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์หรือกำจัดทำลายอย่างถูกต้องต่อไป” นายครองศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

กรมส่งเสริมการเกษตร