สศก. ร่วมยกระดับงานวิจัย ผึ้งไทย ทางเลือกใหม่สร้างได้

3,208

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมยกระดับงานวิจัย ผึ้งไทย ทางเลือกใหม่สร้างได้เกษตรกร ณ ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมือง ราชบุรี

นายเอกราช ตรีลพ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นติดตามการใช้เทคโนโลยีและการต่อยอดงานวิจัยสู่ระดับชุมชนของศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Native Honeybee and Pollinator Research Center) ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) ก่อตั้งและดำเนินการมานานกว่า 15 ปี โดยมี รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี เป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมผึ้งและภาษาผึ้งคนแรกของไทย โดยทางศูนย์ฯ เน้นงานวิจัยกลุ่มผึ้งให้น้ำหวาน 4 ชนิด ได้แก่ ผึ้งหลวง ผึ้งมิ้ม ผึ้งโพรง และ ชันโรง

นายเอกราช ตรีลพ
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

จากการลงพื้นที่ของส่วนเสริมสร้างนวัตกรรมด้านวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระหว่างวันที่ 27 – 29 มีนาคม 2567 ซึ่งได้สัมภาษณ์คุณนิตยา สวัสดิผล ผู้ช่วยนักวิจัยประจำศูนย์ฯ ได้ให้ข้อมูลว่า ด้วยเป้าหมายงานวิจัยที่ต้องใช้ประโยชน์ได้จริง บทบาทหน้าที่ของศูนย์จึงครอบคลุมตั้งแต่มิติของการศึกษาพฤติกรรมทั่วไปทางชีววิทยา เช่น ลักษณะแหล่งอาหารและพื้นที่ที่เหมาะสมแต่ละพันธุ์ และพฤติกรรมเฉพาะ เช่น ภาษาที่สื่อสารระหว่างกันผ่านการเต้นเพื่อบอกทิศทาง ระยะทาง และปริมาณของแหล่งอาหาร รวมทั้งลงลึกถึงสภาวะอารมณ์ของผึ้ง เช่น นวัตกรรมการตรวจจับระดับความเครียดของผึ้งผ่านการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเสียงในรัง เพื่อแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนถึงระดับความเครียดที่ทำให้ผึ้งทิ้งรัง เหมาะสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์เลี้ยงผึ้งไม่นาน โดยขณะนี้ อยู่ในระหว่างการพัฒนารังต้นแบบภายใต้ชื่อ SMART HIVES การต่อยอดงานวิจัยยังรวมถึงการทำการตลาดปลายทางสู่ผู้บริโภคภายในประเทศ ในลักษณะการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ภายใต้แบรนด์ BEESANC จำหน่ายผลผลิตจากผึ้งในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะ น้ำผึ้ง ที่ทางศูนย์รับซื้อจากกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายที่กระจายตัวในภูมิภาคต่างๆ ทำให้สารอาหาร สรรพคุณทางยา และรสชาติน้ำผึ้งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวต่างกันตามพันธุ์ผึ้งและเกรดอาหารของผึ้งในบริเวณนั้น ๆ เช่น น้ำผึ้งชันโรง ป่าเต็งรัง จากอำเภอสวนผึ้ง อำเภอสวนคา และอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี จะมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูงสุด โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระและสารต้านการอักเสบ จากการปรับตัวของพืชในป่าเต็งรังให้ทนต่อสภาพอากาศร้อนจัดประกอบกับเอนไซม์ในระบบย่อยน้ำหวานในตัวชันโรง

ด้านราคารับซื้อน้ำผึ้งพร้อมรวงชันโรง ทางศูนย์ฯ จะรับซื้อเกษตรกร เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 1,000 – 1,500 บาท ซึ่งให้ราคาสูงเมื่อเทียบกับราคารับซื้อน้ำผึ้งชนิดอื่นที่มีราคารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 350 – 550 บาท เนื่องจากปริมาณการผลิตต่อรังน้อยแต่คุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำผึ้งชนิดอื่นประมาน 10 เท่า ด้านผลผลิตน้ำผึ้ง หากมีพืชอาหารเต็มพื้นที่ 1 ไร่  จะสามารถผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ 20 กิโลกรัม ซึ่งถ้าเป็นผึ้งโพรงวางได้เต็มที่ 3 – 5 รังต่อไร่ และให้น้ำผึ้ง 5 – 8  กิโลกรัมต่อรัง และชันโรงวางได้เต็มที่ 10 รังต่อไร่ และให้น้ำผึ้ง 5 – 7 ขีดต่อรัง เป็นต้น

ทั้งนี้ การส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งพื้นเมือง ยังช่วยยกระดับมิติอื่นนอกจากเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยพฤติกรรมผึ้งที่เลือกกินอาหารในแหล่งนิเวศที่ปลอดสารเคมี ทำให้การใช้ยาและปุ๋ยเคมีของเกษตรกรลดลง รวมทั้งมิติทางสังคมจากการเพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรกลุ่มเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและชันโรง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ที่ทางศูนย์ได้ถ่ายทอดทักษะการเลี้ยงผึ้งจนเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว ซึ่งทางศูนย์ยังมีแผนขยายผลต่อไปยังจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งขยายเครือข่ายเกษตรกรในระดับจังหวัดให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรมีการผลักดันการสร้างมาตรฐานน้ำผึ้งเขตร้อน เนื่องจากขณะนี้มาตรฐานน้ำผึ้งสากล (CODEX standard for honey) ถูกจำกัดเฉพาะน้ำผึ้งจากชาติตะวันตกเท่านั้น เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่เกษตรกรในการนำน้ำผึ้งมูลค่าสูงของไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป                           

ทั้งนี้ หากเกษตรกรต้องการทำแบรนด์น้ำผึ้งของตนเองทางสามารถขอรับคำปรึกษาเฉพาะการทำตลาด รวมทั้งความรู้การเลี้ยงผึ้งเพื่อให้ได้น้ำผึ้งคุณภาพสูงและในการเลี้ยงผึ้งผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ จากทางศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) โทร 08 5255 3133 โดยข้อมูลการลงพื้นที่ครั้งนี้ สศก. จะนำมาต่อยอดงานวิจัยในอนาคตเพื่อนำไปสู่แนวทางการพัฒนาด้านแมลงเศรษฐกิจต่อไป

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร