เตรียมความพร้อม ระเบียบการค้าใหม่ EUDR

189

เตรียมความพร้อมเกษตรกรรับมือ EUDR ระเบียบการค้าใหม่ แบนสินค้าเข้าข่ายทำลายป่า

เมื่อปีที่ผ่านมาสหภาพยุโรป (EU) ได้ผ่านกฎหมายห้ามการทำลายป่า เรียกว่า EUDR (European Union Deforestation-free Regulation) เป็นกฎหมายที่ต้องการจำกัดการทำลายป่าที่เกิดขึ้นทั่วโลก อันเนื่องมาจากการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ และการเพาะปลูกทางการเกษตร เป็นกฎระเบียบใช้บังคับกับธุรกิจที่กำหนดไว้ว่า นับจากวันที่ 30 ธันวาคม 2567 “ผู้ประกอบการค้าปลีก” (Operator) และ “ผู้ค้าผู้นำเข้า” (Trader) ของ EU ต้องทำประเมินการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ ผู้ประกอบการที่นำสินค้าเข้ามาในตลาด EU ต้องตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานว่า สินค้านั้นไม่ได้ผลิตจากพื้นที่เพิ่งเกิดการทำลายป่าหลังจากปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ.2563) เป็นต้นมา ส่วนผู้ค้าผู้นำเข้าต้องรับผิดชอบ ที่จะให้ข้อมูลเรื่องห่วงโซ่อุปทานแก่ผู้ประกอบการรายย่อย

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการผ่านกฎหมายดังกล่าวของสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นไปกับ 7 ประเภทสินค้าเกษตร ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เนื้อโค โกโก้ กาแฟ ถั่วลิสง ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และยังหมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ เช่น เครื่องหนัง น้ำมันพืช ช็อกโกแลต ยางรถยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ สำหรับเงื่อนไขของสินค้าที่นำเข้าและส่งออกตาม EUDR โดยต้องปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า ต้องไม่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ป่าไม้ให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศที่ผลิต ตลอดจนสิทธิการใช้ที่ดิน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สิทธิของบุคคลที่สาม สิทธิแรงงาน หลักการของฉันทานุมัติที่ได้รับการรับรู้บอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ (FPIC) สินค้าและผลิตภัณฑ์ ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงผู้ผลิตได้ โดยผ่านระบบการตรวจสอบและประเมิน (Due Diligence)

“กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร เพื่อรับมือกับกฎหมาย EUDR ดังนี้ 1) การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ซึ่งระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกร จะมีระบุพื้นที่ของเกษตรกรว่าพิกัดภูมิศาสตร์ของแปลงปลูกอยู่ที่ไหน ขอบเขตแปลงเป็นอย่างไร พื้นที่ปลูกเท่าไหร่ และปลูกเมื่อไหร่ ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 2) ส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานสากลที่ตลาดทั่วโลกให้การยอมรับ และสอดคล้องกับเงื่อนไข EUDR เช่น การผลิตปาล์มน้ำมันภายใต้มาตรฐาน Roundtable on Sustainable Palm Oil : RSPO หรือ International Sustainability and Carbon Certification : ISCC หรือการผลิตกาแฟภายใต้มาตรฐาน GAP กาแฟ/มาตรฐานอินทรีย์ /มาตรฐาน Rain Forest ฯลฯ 3) ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ 4) ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ/ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่การรับรองมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ทั้งนี้ เกษตรกรที่มีข้อสงสัยอยากขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมาย EUDR สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

สำหรับการส่งออกสินค้าไทยไป EU นั้น ไทยมีการส่งออกสินค้าที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนด EUDR ได้แก่ ยางพารา ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ไม้ ปาล์มน้ำมัน เนื้อโค โกโก้ กาแฟ และถั่วเหลือง ดังนั้น ในระยะแรก ผู้ประกอบการสินค้ายางพารา ไม้ และปาล์มน้ำมัน จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ จาก EUDR โดยปาล์มน้ำมันมีการส่งออกไป EU ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดในปาล์ม น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม (กรดไขมันและแอลกอฮอล์ไขมัน) ประเทศที่ไทยมีการส่งออกน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน อิตาลี กรีซ ฝรั่งเศส โปแลนด์ สเปน และสวีเดน กาแฟ มีการส่งออกไปกลุ่มประเทศ ASEAN ตะวันออกกลาง และ EU ในรูปของเมล็ดกาแฟดิบ กาแฟคั่ว กาแฟสำเร็จรูป และกาแฟสำเร็จรูปผสม ซึ่งเมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทย ทั้งในเชิงลบและเชิงบวก สำหรับผลกระทบเชิงบวก ได้แก่ โอกาสทางการค้าเพิ่มขึ้น หากผู้ประกอบการมีความพร้อมในการตรวจสอบและยืนยันที่มาของผลิตภัณฑ์มากกว่าคู่แข่ง ผลักดันการเฝ้าระวังการทำลายป่า ส่งเสริมการรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่า และเป็นการยกระดับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน มีการบังคับใช้กฎหมาย และการจัดเก็บข้อมูล ในส่วนของผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกเผชิญต้นทุนสูงขึ้น จากการต้องตรวจสอบและประเมิน Due Diligence สินค้าที่จะส่งออกไป EU ผู้ประกอบการรายย่อยอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หากไม่ผ่านเกณฑ์ EUDR หรือมีความเสี่ยงมากกว่าคู่แข่งในด้านการตัดไม้ทำลายป่า และไทยอาจค่อย ๆ หลุดออกจากห่วงโซ่อุปทานและการลงทุนโลก เนื่องจาก EU จะจัดกลุ่มความเสี่ยงของประเทศผู้ผลิตสินค้า หากประเทศใดมีความเสี่ยงสูง ก็อาจจะซื้อสินค้าลดลง

กรมส่งเสริมการเกษตร