หวายตัดหน่อ มาตรฐาน GAP จ.สกลนคร

166

ผลสำเร็จ ‘วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่หวาย 2’ จ.สกลนคร ผลิตหวายตัดหน่อ มาตรฐาน GAP สามารถสร้างรายได้จากสินค้าเกษตรท้องถิ่นกว่า 16 ล้านบาท

นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยถึงการติดตามการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่หวาย 2 ตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการผลิตหวายตัดหน่อ ผลผลิตมีคุณภาพ ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ยกระดับผลผลิตสู่การส่งออกตลาดต่างประเทศ

นางสาวอุษา โทณผลิน
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี

จากการติดตามของ สศท.3 พบว่า กลุ่มมีพื้นที่ปลูกรวม 1,000 ไร่ มีสมาชิกเกษตรกร 71 ราย (ปลูกเฉลี่ย 14 ไร่/ครัวเรือน) โดยมีนายบุญศรี นาถมทอง เป็นประธานเริ่มดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการแปลงใหญ่ ปี 2561 และเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ปี 2564 ซึ่งได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีอุปกรณ์ เพื่อใช้ในกระบวนการผลิต อาทิ รถแทรกเตอร์พร้อมอุปกรณ์ 2 คัน ตู้อบลมร้อน 2 เครื่อง โดรน เครื่องซีลสุญญากาศ สำหรับการดำเนินงานกลุ่มตามเป้าหมายการพัฒนาแปลงใหญ่ 5 ด้านที่สำคัญ ดังนี้

ด้านลดต้นทุนการผลิต สมาชิกใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและผลิตปุ๋ยอัดเม็ดที่มีส่วนผสมของมูลไก่ผสมมูลค้างคาว สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อยู่ที่ 8,994 บาท/ไร่/ปี จากก่อนเข้าร่วมโครงการมีต้นทุนเฉลี่ย 9,467 บาท/ไร่/ปี หรือลดลงร้อยละ 5 ด้านการเพิ่มผลผลิต กลุ่มสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกหวายพันธุ์หนามขาว เพราะจะได้หวายหน่อใหญ่ แตกก่อเร็วให้ผลผลิตสูง และรสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 4,192 หน่อ/ไร่/ปี จากก่อนเข้าร่วมโครงการมีผลผลิตเฉลี่ย 3,436 หน่อ/ไร่/ปี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ด้านการพัฒนาคุณภาพสินค้า สมาชิกผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP และนำเทคโนโลยีอุปกรณ์ อาทิ เครื่องซีลสุญญากาศมาใช้ในการรักษาคุณภาพสินค้า โดยเมื่อปอกเปลือกหวายแล้วนำไปซีลสุญญากาศจำหน่ายให้ผู้บริโภคสามารถยืดอายุหวายและนำไปปรุงอาหารได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งกลุ่มได้ส่งเสริมให้สมาชิกเพิ่มพูนความรู้ด้านกระบวนการผลิตโดยเข้าร่วมการอบรมและการเรียนรู้กับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันการศึกษาและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ด้านการตลาด การจำหน่ายผลผลิตในท้องตลาดของหน่อหวายสดมี 2 รูปแบบ ได้แก่ หวายสดที่ยังไม่ปอกเปลือก ราคา 3 – 5 บาท/หน่อ และหวายสดปอกเปลือก ราคา 400 – 500 บาท/กิโลกรัม ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 60 จำหน่ายให้ผู้รับซื้อในชุมชนและจังหวัดใกล้เคียง และร้อยละ 40 จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยการสนับสนุนแพลตฟอร์มออนไลน์ของสำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ ด้านการบริหารจัดการ กลุ่มมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยให้บริการอุปกรณ์เครื่องจักรกลการเกษตรแก่สมาชิก และขยายผลการให้บริการสู่เกษตรกรทั่วไป จึงทำให้กลุ่มมีรายได้จากการให้บริการเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้นนอกจากการจำหน่ายหวายตัดหน่อ ทั้งนี้ จากผลสำเร็จของห้างหุ้นส่วนจำกัดวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่หวาย 2 ส่งผลให้กลุ่มมีรายได้ในปี 2566 อยู่ที่ 16 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำหรับหวายตัดหน่อ นับเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการมากกว่าปริมาณผลผลิตที่สมาชิกกลุ่มสามารถผลิตได้ เกษตรกรจึงต้องให้ความสำคัญในการรักษาคุณภาพผลผลิต ซึ่งการปลูกหวายตัดหน่อเพื่อบริโภคมีการดูแลรักษาง่ายไม่ยุ่งยาก เกษตรกรเริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหรือประมาณเดือนพฤษภาคม โดยนำต้นกล้าอายุ 1 ปี ลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ก่อนปลูกต้องรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน จากนั้นคอยดูแลเรื่องน้ำและกำจัดวัชพืช หากจัดการดีก็จะได้ผลผลิตต่อไร่สูงหลังปลูกราว 2 ปี ก็สามารถตัดหน่อจำหน่ายได้ ปัจจัยที่ทำให้หวายมีคุณภาพดี นอกจากปริมาณน้ำและการกำจัดวัชพืชแล้ว พันธุ์ดีที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง การเก็บผลผลิตสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกเดือน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะเก็บผลผลิตได้มากขึ้น ซึ่งหวายสามารถทำรายได้ให้สมาชิก จากที่เคยเป็นรายได้เสริมกลายมาเป็นรายได้หลักให้กับครอบครัว หากเกษตรกรหรือท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตหวายตัดหน่อของห้างหุ้นส่วนจำกัดวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่หวาย 2 ตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร สามารถสอบถามได้ที่นายบุญศรี นาถมทอง ประธานแปลงใหญ่หวาย โทร 06 5308 8930 

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร