กวก. แจ้งเตือน “ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร”

1,874

กรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือน “ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” หากมีส่วนผสมสารสกัดจากพืชในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาไซเตส ต้องขอหนังสืออนุญาต

ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง  รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  ในฐานะโฆษกกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุมการค้าพืชในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาไซเตส ได้รับการแจ้งเตือนจากสหภาพยุโรปว่ามีการส่งออกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากพืชในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาไซเตสจำนวนมากไปยังสหภาพยุโรป (EU) โดยไม่มีหนังสืออนุญาตไซเตส (CITES Permit) ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการปฏิเสธไม่ให้เข้าไปยังสหภาพยุโรป ถูกกักยึดทำลาย และยังถูกดำเนินคดีปรับเป็นเงินจำนวนมากในประเทศปลายทางอีกด้วย

ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง  รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร

ดังนั้น กรมวิชาการเกษตร จึงขอประชาสัมพันธ์ให้บริษัทผู้ผลิต ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากพืชในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาไซเตส รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้ทราบว่าสารสกัดจากพืชในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาไซเตส โดยเฉพาะสารสกัดจากกระบองเพชรทุกชนิด และพืชสมุนไพรอีกหลายชนิดที่อยู่ในการควบคุมของอนุสัญญาไซเตส และเป็นพืชอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 การส่งออกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากพืชในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาไซเตสไปนอกราชอาณาจักร จะต้องได้รับหนังสืออนุญาตไซเตสจากกรมวิชาการเกษตร สำหรับผู้ฝ่าผืนไม่ปฏิบัติตามนอกจากจะทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการปฏิเสธการเข้าประเทศปลายทางและถูกกักยึดทำลายแล้ว ยังมีบทลงโทษสำหรับผู้ส่งออกที่ไม่ขอหนังสืออนุญาตไซเตส ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 3,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกด้วย

“ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  สามารถตรวจสอบพืชหรือสารสกัดจากพืชที่อยู่ในการควบคุมของอนุสัญญาไซเตสได้จากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง พืชอนุรักษ์ พ.ศ. 2564 หรือที่เว็บไซต์ https://checklist.cites.org/#/en  โดยชนิดพืชในบัญชีไซเตสที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป  ต่าง ๆ เช่น กระบองเพชร ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือกาแฟลดน้ำหนัก กล้วยไม้และว่านหางจระเข้แอฟริกาเป็นส่วนผสมในโลชั่น ครีมบำรุงผิว กฤษณาและโกฐกระดูก เป็นส่วนผสมในยาหอม  ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มวิจัยอนุสัญญาไซเตสด้านพืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์          0-2940-5687 อีเมล [email protected] หรือไลน์ไอดี citesflora.th หรือเพจ CITES Flora Thailand” โฆษกกรมวิชาการเกษตร  กล่าว

กรมวิชาการเกษตร