แนะภาคการเกษตรไทย ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์สู่ ‘การทำเกษตรมูลค่าสูง’ ใช้เครือข่ายนวัตกรรม ความร่วมมือ เพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวในโอกาสที่ได้รับเกียรติจากโครงการความร่วมมือระหว่าง เยอรมัน – ไทย เพื่อส่งเสริมระบบและการบริหารจัดการด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายนวัตกรรม ให้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลง หัวข้อ “การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทยและระบบอาหารยั่งยืน” ในงาน Agritechnica Asia 2024 ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ว่า ระบบอาหารที่ยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งในปี 2558 SDGs ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรและระบบอาหารเพื่อยุติความหิวโหยให้บรรลุความมั่งคงทางด้านอาหารและปรับปรุงโภชนาการภายในปี พ.ศ. 2573 ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ในปี 2566 ประชากรโลกกว่า 7 แสนคน ประสบกับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันอย่างรุนแรงที่สุด และมีความเสี่ยงต่อความอดอยากในระดับภัยพิบัติ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่านับตั้งแต่ปี 2559 และถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการรายงานมา
ประเทศไทยมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืนและส่งเสริมความเท่าเทียม สะท้อนแนวคิดที่ว่าระบบอาหารเป็นปัจจัยหลักที่ส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกหัวข้อ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกับภาคีต่าง ๆ กำหนดการดำเนินการที่เรียกว่า 5 Action Tracks ภายใต้แนวทางขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่ อิ่มดีถ้วนหน้า อิ่มดีมีสุข อิ่มดีรักษ์โลก อิ่มดีทั่วถึง และ อิ่มดีทุกเมื่อ นอกจากนี้ยังมีนโยบายและวางเป้าหมายการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก และการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเป็น 3 เท่า ภายใน 4 ปี การขับเคลื่อนนโยบายเกษตรและอาหารด้วย 3S ได้แก่ความปลอดภัยทางอาหาร (Safety) ความมั่นคง (Security) และยั่งยืนของทรัพยากรและนิเวศการเกษตร (Sustainability) เพื่อให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างเพียงพอและปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ดิน และน้ำ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ด้านภาคเกษตรของไทยยังคงพึ่งพาการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรขั้นต้นเป็นหลัก คิดเป็น 87.7% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติมีแนวโน้มลดลงและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง และรายได้ของเกษตรกรไม่แน่นอน เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ประเทศไทยควรมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านการเกษตรในรูปแบบเดิมไปสู่ ‘การทำเกษตรมูลค่าสูง’ ด้วยการทำเกษตรแบบประณีตหรือเกษตรแม่นยำสูง ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีหมุนเวียน เพื่อยกระดับการผลิตและคุณค่าเป็นสินค้าเกษตรโภชนาการสูง ตลอดจนเพื่อใช้ประโยชน์ด้านวัสดุชีวภาพ ด้านเภสัชกรรม ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ส่งผลต่อรายได้สุทธิที่ดีกว่าเดิมและเกิดความคุ้มค่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
“กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ด้านพืช แมลงเศรษฐกิจ และบริการเชิงสร้างสรรค์ ได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่และสินค้าเกษตร มูลค่าสูง จำนวน 83 กลุ่มที่มีศักยภาพ ประกอบไปด้วยสินค้า 16 ชนิดพืช จาก 82 ตำบล 77 อำเภอ 40 จังหวัด นำร่องดำเนินการพัฒนายกระดับและต่อยอดในปี 2567 โดยจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อส่งออก ที่มีการรวมกลุ่มกันผลิต รวมกลุ่มกันจำหน่าย และมีตลาดในต่างประเทศจำนวน 82 กลุ่ม มีแนวทางการขับเคลื่อน คือ พัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการส่งออก ขยายตลาดและขยายฐานการผลิตเพื่อการส่งออก สนับสนุนกลไกการรวบรวมการคัดบรรจุ การขนส่งเพื่อการส่งออก อำนวยความสะดวกการตรวจรับรองมาตรฐาน มาตรการทางภาษี การขนส่งสินค้าข้ามแดน และกลุ่มที่ 2 กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงที่มีการแปรรูปเป็นสินค้าที่มีตลาดภายในประเทศ มีการจำหน่ายเป็นผลผลิตโดยตรงหรือมีการแปรรูป ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการจะส่งออกสูง จำนวน 1 กลุ่ม โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน คือ พัฒนากระบวนการผลิตและการแปรรูป โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับห่วงโซ่มูลค่าให้สูงขึ้น ส่งเสริมการผลิตอาหาร Future Food และ Function Food บูรณาการความร่วมมือกับสถานศึกษา เพื่อนำงานวิจัย สู่การถ่ายทอดและส่งเสริมการตลาดภายในประเทศทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
สำหรับโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง มีเป้าหมายดำเนินการพัฒนาแปลงต้นแบบเกษตรมูลค่าสูง 500 ตำบล ภายในปี 2570 โดยในปี 2567 มีเป้าหมายกลุ่มแปลงใหญ่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 46 กลุ่ม จาก 46 ตำบล 43 อำเภอและ 26 จังหวัด ใน 14 ชนิดพืช โดยกรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนกลุ่มเกษตรกรสู่การมีรายได้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย 3 เท่าในปี 2570จากสถานการณ์ความเสี่ยงของภาคการเกษตร และการวิเคราะห์แนวทางการปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิตดังกล่าว ทั้งนี้ จะต้องสร้างการยอมรับเทคโนโลยีและสร้างชุดความคิดใหม่ให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เปิดรับการเปลี่ยนแปลง และเป็นหัวขบวนในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ อันเป็นทางเลือก และทางรอดเพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิม
ทั้งนี้ ในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการดำเนินความร่วมมือด้านการเกษตรกับกระทรวงอาหารและการเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือ BMEL โดยเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างเยอรมัน – ไทย เพื่อส่งเสริมระบบการบริหารจัดการด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายนวัตกรรม ซึ่งเป็นโครงการระยะเวลา 3 ปี โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างระบบและการจัดการด้านการเกษตรให้ยั่งยืนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรและอาหารของไทย โดยทีมผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายเยอรมันและกรมส่งเสริมการเกษตรได้พิจารณาคัดเลือกพืชที่ดำเนินการเพื่อให้เกิดแนวทางและการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ได้แก่ 1) ข้าวโพดพื้นที่สูง จังหวัดแพร่ เน้นการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดการเผาในพื้นที่การเกษตร และข้าวโพดพื้นที่ราบ จังหวัดสระบุรีและจังหวัดลพบุรีเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น 2) อ้อย จังหวัดนครราชสีมา การบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดการเผาในพื้นที่การเกษตร 3) ปาล์มน้ำมัน จังหวัดชุมพร เป็นการศึกษาการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากปาล์มน้ำมัน และ 4)ไม้ผล ได้แก่ มะม่วง จังหวัดเชียงใหม่ และทุเรียน จังหวัดชุมพร เน้นการเพิ่มผลผลิตเกษตรมูลค่าสูง และยกระดับการผลิต โดยทีมผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดแผนปฏิบัติเพื่อสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อสนับสนุนแนวทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์และเป็นการยกระดับการเกษตรของไทยประเทศในการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรให้ยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานของทั้ง 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
กรมส่งเสริมการเกษตร