สวก. จับมือกรมการแพทย์, ม.อ., ป.ป.ส. ดันวงการแพทย์

1,039

สวก. จับมือ กรมการแพทย์ ม.อ. และ ป.ป.ส. ผลักดันวงการแพทย์ครั้งแรกของไทย พัฒนาต้นตำรับยาจากพืชกระท่อมบำบัดผู้ติดยาเสพติดร้ายแรงแทนการใช้ยาเคมี

วันที่ 28 พ.ค. 2567 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. โดย ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กรมการแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมแบบครบวงจรสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยมี ผศ.ดร. นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนายวีระพล ใจจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อต่อยอดงานวิจัยพัฒนายาจากพืชกระท่อมเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่มีมาตรฐานทางการแพทย์แบบครบวงจรสู่การผลิตที่จะพัฒนาเป็นยาบำบัดและต่อยอดเชิงพาณิชย์แบบครบวงจรสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด ซี่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการเกษตร การแพทย์และอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ยังสอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในการตั้งเป้าผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของความเป็นเลิศด้านการแพทย์และสุขภาพ

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก. เป็นหน่วยงานหลักที่มีพันธกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตรไทย ด้วยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาและยกระดับภาคการเกษตรไทย เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพได้มาตรฐานให้กับตลาดทั้งในและต่างประเทศ “สมุนไพร” เป็นหนึ่งในคลัสเตอร์ที่ สวก. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายและมูลค่าสูง โดยในอดีตพืชกระท่อมมีบทบาทในวิถีชีวิตผู้คน ทั้งในมิติสังคม วัฒนธรรมและการแพทย์ ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนพืชควบคุมสามารถใช้ได้โดยมีการควบคุมที่ปลอดภัย การลงนามในครั้งนี้ จึงถือเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ และสถาบันการศึกษา ในการร่วมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมในด้านการแพทย์ โดยการศึกษาวิธีการสกัด “สารไมทราไจนีน” ในพืชกระท่อมซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ลดการปวด ต้านการอักเสบ และที่สำคัญสามารถช่วยลดอาการลงแดง มีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด โดยในปีนี้มุ่งเน้นกระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคาดว่าในปี 2568 จะเริ่มมีการนำไปทดสอบใช้จริงในมนุษย์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสุขภาพของผู้ติดยาเสพติดได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาอาชญากรรมในสังคมไทย อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมทางยาภายในประเทศ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงมาใช้ในการบำบัด อันจะส่งผลให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าจากการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการแข่งขันของประเทศต่อไป นอกจากการลงนามในครั้งนี้ สวก. ยังได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับ ม.อ. เรื่อง การส่งเสริม สนับสนุนทุนเพื่อการพัฒนาการวิจัยการเกษตรและบุคลากรด้านการเกษตรและการส่งเสริมผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีการทำวิจัยมาอย่างยาวนาน ภายใต้วิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่า เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก โจทย์วิจัยของเราจึงหลากหลายและครอบคลุมในทุกมิติของชุมชนและสังคม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมให้ครบวงจร ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เองมีทีมวิจัยที่ได้ศึกษาวิเคราะห์ และค้นคว้าให้รู้ถึงสารสำคัญของพืชกระท่อม ทั้งฤทธิ์ที่เกิดขึ้น และการนำเอาไปใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง จากปี 2545 ที่กระท่อมยังอยู่ในสถานะพืชเสพติด จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีองค์ความรู้ที่จะชี้แนะและให้ข้อมูลแก่หน่วยงานต่างๆ รวมถึงสามารถแสดงให้เห็นถึงฤทธิ์ของกระท่อม ที่จะนำไปใช้ทางการแพทย์ได้ และหวังว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะได้สร้างสะพานความร่วมมือและมีช่องทางที่นักวิจัยสามารถใช้ความรู้ทางวิชาการมาช่วยพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ ให้เกิดเป็นงานวิจัยทางด้านพืชกระท่อมอย่างครบวงจรและจับต้องได้ บนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคและการประสานประโยชน์ร่วมกัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาและขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า รวมถึงแสดงศักยภาพของนักวิจัยไทยให้ประจักษ์ในสายตานานาประเทศต่อไป

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์เล็งเห็นและให้ความสำคัญ
มาโดยตลอดว่า การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดไม่ใช่เพียงการรักษาอาการฉุกเฉินแล้วหายขาด จำเป็นต้องอาศัยการดูแลอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกด้านของชีวิต ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ด้านสังคม และการดำเนินชีวิต ดังนั้น กรมการแพทย์โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) โรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี ซึ่งมีภารกิจในด้านการรับส่งต่อและบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่มีความยุ่งยากซับซ้อน และยังมีบทบาทในการสนับสนุน ส่งเสริมและสร้างความร่วมมือในการศึกษาวิจัยทางคลินิกพัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดที่สมคุณค่า เพื่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน

นายวีระพล ใจจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. กล่าวว่า ป.ป.ส.
ให้ความสำคัญในการผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบายโดยเฉพาะการนำมาใช้แก้ไขปัญหายาเสพติด
ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการวิจัยต่อยอดพัฒนายาจากพืชกระท่อมเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
โดยต้องผ่านกระบวนทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ภายใต้จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และในอนาคตหากมีผล
เป็นที่น่าพึงพอใจ สำนักงาน ป.ป.ส. พร้อมผลักดันเชิงนโยบายให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังมีความสอดคล้องกับมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2565 ที่มอบหมายให้ ป.ป.ส. เป็นหน่วยประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ การใช้ตามวิถีชุมชน และคุ้มครองสุขภาพของบุคคล รวมถึงประสานงานให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อมอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างเป็นระบบต่อไป

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร