กลุ่มตำบลบ้านผึ้ง บ่มเพาะสู่ความสำเร็จเพิ่มมูลค่าข้าว

193

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวตำบลบ้านผึ้ง เมืองนครพนม บ่มเพาะสู่ความสำเร็จเพิ่มมูลค่าข้าว ด้วยมาตรฐานและเครือข่ายสู่แบรนด์ ‘ข้าวสุข’

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ในกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้ได้ผลผลิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ซึ่งมีกรมการข้าวเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรม โดยดำเนินการ อบรมให้ความรู้เชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพที่ปรึกษาด้านระบบควบคุมภายในมาตรฐานอินทรีย์ไทยและต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพด้านการแปรรูปให้ได้มาตรฐานอินทรีย์ ซึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้กำหนดเป้าหมายที่จะส่งเสริมพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แปลงใหม่เพิ่มขึ้น 10,000 ไร่ เกษตรกร 1,000 ราย ใน 12 จังหวัด ซึ่งจากการติดตามผลการดำเนินงานในภาพรวมของ สศก. รอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2566 – มีนาคม 2567) พบว่า ขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วรวม 1,873 ราย  พื้นที่เข้ารับการส่งเสริม 23,315 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการส่งเสริม และเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อเตรียมการขอรับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ต่อไป

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามตัวอย่างกลุ่มเกษตรกรที่เข้าโครงการฯ ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวตำบลบ้านผึ้ง (ข้าวสุข) อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มส่งเสริมอาชีพกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และเกษตรกรที่สนใจปลูกข้าวอินทรีย์ในชุมชน ก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อปี 2554 และประสบผลสำเร็จจากการได้รับการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตและแปรรูปข้าวอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ปี 2563 มีคุณนงลักษณ์ อัศวสกุลชัย เป็นประธานกลุ่ม มีความมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวทั่วไปสู่ข้าวปลอดภัยและข้าวอินทรีย์ ตามลำดับ จึงได้แสวงหาองค์ความรู้และได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มีการนำเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูป ร่วมกับการให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการป้องกันศัตรูข้าว การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยพืชสด และการไถกลบตอซัง ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นช่วยลดต้นทุนปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวตำบลบ้านผึ้ง มีสมาชิก 46 ราย และเครือข่ายรวมแล้วกว่า 210 ราย
มีการเลือกปลูกข้าวในหลายสายพันธุ์ ทั้งข้าวขาวดอกมะลิ 105 กข15 มะลิแดง ไรซ์เบอรี่ และ กข6 ได้ผลผลิตข้าวเปลือกรวมปีละประมาณ 300 ตัน โดยสมาชิกเลือกปลูกได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ และจำหน่ายผลผลิตให้กับกลุ่มซึ่งรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดกิโลกรัมละ 2 – 3 บาท โดยทางกลุ่มได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตข้าวตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (Good Agricultural Practices : GAP) และในปี 2565 ยังได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) รวมทั้งมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ Bioagricert โดยหน่วยงานรับรองเอกชน IFOM ที่มีการตรวจรับรองตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงขั้นตอนการสีข้าวและบรรจุเป็นข้าวสาร ทำให้กลุ่มสามารถจำหน่ายข้าวอินทรีย์ไปยังกลุ่มประเทศยุโรป ทั้งนี้ ยังมีการสร้างเครือข่ายของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตข้าวอินทรีย์ในจังหวัดนครพนม รวมกันกว่า 28 วิสาหกิจชุมชน ในเรื่องของการตรวจรับรองคุณภาพข้าว เพื่อสร้างความเป็นมาตรฐานและความเข้มแข็งให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนของจังหวัดนครพนมอีกด้วย

ผลจากความทุ่มเทและร่วมแรงพลังของกลุ่มและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวตำบลบ้านผึ้ง (ข้าวสุข) สามารถยกระดับและพัฒนาการผลิตจนมีตราสินค้าของตนเองในชื่อว่า “ข้าวสุข” โดยจะมีผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายที่หลากหลายจากผลผลิตข้าวสาร 200 ตัน เช่น ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ ข้าวฮาง และข้าวเหนียว ราคาจำหน่ายเฉลี่ย 80 บาทต่อกิโลกรัม สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มประมาณ 16 ล้านบาทต่อปี ยังไม่รวมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอื่น ๆ เช่น จมูกข้าวชงพร้อมดื่ม ข้าวอบกรอบไรซ์เบอรี่ ซึ่งทางกลุ่มมีช่องทางการจำหน่ายทั้งภายในและนอกประเทศ อาทิ ข้าวกล้อง ข้าวฮางงอก ส่งไปขายยังประเทศจีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ส่วนการตลาดภายในประเทศจะมีตัวแทนจำหน่าย เช่น โรงพยาบาลนครพนม ร้านจำหน่ายสินค้า OTOP ภายในจังหวัด รวมทั้งการไปออกบูธจำหน่ายตามงานแสดงสินค้าต่าง ๆ สำหรับท่านที่สนใจแนวทางการดำเนินกิจกรรมเกษตรอินทรีย์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวตำบล บ้านผึ้ง (ข้าวสุข) สามารถติดต่อสอบถามได้ที่คุณนงลักษณ์ อัศวสกุลชัย ประธานกลุ่ม โทร. 08 1262 0474

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร