เกษตรฯ ขับเคลื่อน “ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช” ทั่วประเทศ 959 ศูนย์ ให้บริการเกษตรกรแล้ว มากกว่า 10,551 เรื่อง
นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช ซึ่งเป็นศูนย์บริการประชาชนภาคการเกษตร ตามนโยบายขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจัดตั้งศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชขึ้น 959 ศูนย์ทั่วประเทศ จำแนกเป็นศูนย์บริการระดับจังหวัด 77 ศูนย์ ณ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และศูนย์บริการระดับอำเภอ 882 ศูนย์ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกรสามารถขอรับบริการของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ รวมถึงติดต่อสอบถามและขอคำแนะนำด้านการเกษตรต่าง ๆ
จากการติดตามของ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ผ่านระบบประเมินผลและติดตามโครงการเชิงนโยบาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ตั้งแต่ 18 ตุลาคม 2566 ถึง 30 เมษายน 2567 ภาพรวมการให้บริการของศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชอยู่ที่ 10,551 เรื่อง ดำเนินการให้บริการเสร็จสิ้นแล้ว 9,740 เรื่อง (ร้อยละ 92.31) โดยมากกว่าร้อยละ 90 เกษตรกรเข้าใช้บริการศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชในด้านการขอรับบริการ แบ่งเป็น ขอรับบริการทั่วไป (ขอรับปัจจัยการผลิต แจ้งปรับสมุดทะเบียนเกษตรกร) และขอรับบริการด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง รองลงมาใช้บริการขอรับการช่วยเหลือ/สนับสนุนจากปัญหาต่าง ๆ เช่น ประสบภัยพิบัติทางการเกษตร หนี้สิน ที่ดินทำกินด้านการเกษตร ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
จากการลงพื้นที่ของ ศูนย์ประเมินผล ติดตามในพื้นที่จังหวัดลพบุรี เพชรบูรณ์ และสระบุรี ระหว่างวันที่ 7 – 9 พฤษภาคม 2567 พบว่า เกษตรกรที่เข้าใช้บริการศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชในระดับอำเภอ ส่วนใหญ่ประสบปัญหาการทำการเกษตรในด้าน ปัจจัยการผลิตมีราคาสูง โรค แมลง ศัตรูพืชระบาด ภัยแล้ง และประสบปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอดำเนินการให้บริการและแก้ไขปัญหาตามความต้องการของเกษตรกร มีการสนับสนุนปัจจัยการผลิตจะมีการประสานงานกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร เพื่อขอรับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต อาทิ สารเร่ง พด. ไตรโคเดอร์ม่า ปุ๋ยพืชสด รวมทั้งให้ความรู้ในการกำจัดและป้องกันเมื่อศัตรูพืชระบาด ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายและกำจัดศัตรูพืชที่ระบาดได้ โดยเกษตรกรทุกรายได้รับการแก้ไขปัญหาตามเรื่องที่ขอรับบริการเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ตัวอย่างของเกษตรกรที่ได้รับปัจจัยการผลิตและนำไปใช้ประโยชน์ เช่น สารเร่ง พด. ไตรโคเดอร์ม่า เมื่อนำไปใช้ประโยชน์แล้วทำให้เกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายสารเคมีกำจัดวัชพืชและสารเคมีป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชในการผลิตข้าวจาก 1,020 บาทต่อไร่ เหลือ 765 บาทต่อไร่ (ลดลงร้อยละ 25)
สำหรับความพึงพอใจในภาพรวม พบว่า เกษตรกรร้อยละ 79 พึงพอใจต่อการเข้าใช้บริการศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชในระดับมากที่สุด โดยข้อค้นพบจากการติดตาม พบว่า สำนักงานเกษตรอำเภอ เป็นหน่วยงานในระดับอำเภอที่สามารถบันทึกและเรียกดูข้อมูลในระบบเท่านั้น ทำให้ต้องประสานงานกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกษตรกรขอรับบริการ ดังนั้น แนวทางการดำเนินงานศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชในระยะต่อไป ควรพัฒนาระบบให้เชื่อมโยง สามารถรับและส่งต่อข้อมูลกับทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ เพื่อเป็นการลดระยะเวลาการให้บริการ และสามารถแก้ไขปัญหา ข้อร้องเรียน ร้องทุกข์ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วต่อไป
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร