“บุญล้อม สำราญ” ผู้พัฒนาเกลือทะเลไทยสู่ตลาดสากล

2,495

‘บุญล้อม สำราญ’ Smart Farmer ผู้สืบสาน และพัฒนาเกลือทะเลไทยสู่ตลาดสากล

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทย มีพื้นที่ผลิตเกลือทะเลใน 7 จังหวัด เนื้อที่การผลิตเกลือประมาณ 47,210 ไร่ มีผลผลิตเกลือปีละประมาณ 5 แสนตัน (จังหวัดเพชรบุรี 15,365 ไร่ สมุทรสาคร 24,343 ไร่ สมุทรสงคราม 5,774.17 ไร่ ชลบุรี 656 ไร่ จันทบุรี 226 ไร่ ปัตตานี 433.13 ไร่ และฉะเชิงเทรา 413 ไร่) การผลิตเกลือในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังคงเป็นการผลิตเกลือตามกรรมวิธีแบบดั้งเดิม (นาดิน) ที่สืบทอดกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น มีเพียงเกษตรกรบางรายที่นำเทคนิคการใช้ผ้าใบมาปูรองพื้นนาเกลือ (นาปลง) ทำให้ได้ผลผลิตเกลือทะเลสีขาวใสในปริมาณเพิ่มขึ้น และในทุกขั้นตอนการผลิตยังคงใช้แรงงานในชุมชนหรือพื้นที่อำเภอใกล้เคียง หล่อหลอมเป็นทุนทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า และระบบเศรษฐกิจฐานรากที่สร้างสัมมาอาชีพให้แก่ชาวนาเกลือสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยตนเองมาช้านาน

นายพีรพันธ์ คอทอง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า นายบุญล้อม สำราญ (Smart Farmer) เกษตรกรนาเกลือจังหวัดสมุทรสาครเป็นตัวอย่างของการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมและนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเดิมทำนาดิน จำนวน 75 ไร่ และปัจจุบันได้รับคำแนะนำในการปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยนำผ้าใบ Food Grade มาปูในพื้นที่นาปลงเพื่อเพิ่มผลผลิต เพื่อลดต้นทุน และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกลือทะเล จำนวน 5 ไร่ ผลผลิตเกลือประมาณ 1,600 ตัน/ปี โดยเป็นเกลือขาวประมาณ 800 ตัน/ปี เกลือกลาง 800 ตัน/ปี นอกจากนี้ยังมีการนำความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีมาปรับใช้ในการทำนาเกลือจนผ่านการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055 – 2562) ปี 2566 และได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจัดตั้งและบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรฐานชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในปี 2566 ของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเข้ารับการถ่ายทอดความรู้ด้านการตลาดและการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และวางแผน พัฒนาการผลิต การตลาดเกลือทะเลทั้งระบบอย่างยั่งยืน และสามารถพัฒนาสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์เกลือทะเล ร่วมกับ ดร.บุศราภรณ์ สำราญ โดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า Salté กำลังการผลิต ประมาณ 48 ตัน/ปี โดยผลิตภัณฑ์ Salté มีลักษณะพิเศษคือผลึกเกลือรูปทรงพีระมิด ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตที่คิดค้นโดยผู้เชี่ยวชาญ ทำให้เกลือมีความเค็มที่กลมกล่อมและรสชาติหวานเล็กน้อย เหมาะสำหรับการปรุงอาหารและแต่งรสเพิ่มเติม และยังได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต เช่น HACCP, GHP, HALAL, FSSC 22000 และ FDA สร้างรายได้กว่า 2.6 ล้านบาท/ปี

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า นายบุญล้อม ได้พัฒนากระบวนการผลิต บริหารจัดการและการสร้างเครือข่ายเกลือทะเลที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่การตกแต่งคันนา ปรับพื้นที่ นำน้ำทะเลเข้าสู่วังขังน้ำ จนถึงการขนเกลือสู่ยุ้งด้วยรถเข็นที่มีความแข็งแรงและสะอาด นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมการเรียนรู้และนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ กับเกษตรกรในชุมชน เพื่อให้มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ก่อขยะจากกระบวนการผลิต (Zero Waste) สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกลือทะเลไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ความสำเร็จเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมร่วมกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการพัฒนาการผลิตเกลือทะเลให้ได้คุณภาพดี มีมาตรฐานสากล และการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งในชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีพการทำนาเกลือทะเล เป็นตัวอย่างในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกลือในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย และเป็นเกษตรกรที่ทำครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยมีเจตนารมณ์ในการประกอบอาชีพด้วยความมุ่งมั่นในการรักษาอาชีพการทำนาเกลือทะเลสู่ชนรุ่นหลัง คงอยู่คู่จังหวัดสมุทรสาครและประเทศไทยอย่างยั่งยืน

กรมส่งเสริมการเกษตร