โครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ เมืองจันท์ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย พัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้ไม้ผล
นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยถึงการติดตามผลการดำเนินงานโครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบและแหล่งศึกษาและถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตรด้านไม้ผลในระบบเกษตรดีที่เหมาะสมที่มีคุณภาพมาตรฐานที่ดีให้แก่เกษตรกรและประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อพัฒนาการผลิตไม้ผลชนิดต่างๆ และเพื่อพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการศูนย์ฯ มุ่งบูรณาการดำเนินงานโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยมีกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก มีหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โครงการฯ กำหนดเป้าหมายพื้นที่ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ดำเนินการทั้งสิ้น 109 ไร่ และพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ 8 หมู่บ้าน 25,250 ไร่
สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ณ อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี พบว่า เกษตรกรที่ได้รับการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ ร้อยละ 85 อาทิ หลักสูตรการใช้ชีวภัณฑ์น้ำหมักเห็ดเรืองแสงและไตรโคเดอร์มา หลักสูตรแปลงเรียนรู้ผลิตไม้ผลคุณภาพ และได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ร้อยละ 80 อาทิ พันธุ์ปลานิล การทำปุ๋ยหมัก พด. วัสดุอุปกรณ์ ชุดผลิตนำหมักคุณภาพสูง และชุดแคลเซียม – โบรอน ซึ่งเกษตรกรได้นำไปปฏิบัติและใช้ประโยชน์ ส่งผลให้ ด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรร้อยละ 50 มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น เป็น 1,015,474 บาทต่อครัวเรือนต่อปี จากเดิมที่มีรายได้ 818,421 บาทต่อครัวเรือนต่อปี (หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 197,053 บาทต่อครัวเรือนต่อปี) จากการจำหน่ายผลผลิตไม้ผล เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง และการแปรรูปผลผลิต และเกษตรกรร้อยละ 63 สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนเฉลี่ย 6,894 บาทต่อครัวเรือนต่อปี โดยเป็นการนำผลผลิตที่ปลูกเองในแปลง อาทิ พืชผักสวนครัว และพืชผักตามฤดูกาลมาบริโภค และเกษตรกรร้อยละ 66 สามารถลดค่าใช้จ่ายทางการเกษตร เฉลี่ย 27,269 บาทต่อครัวเรือนต่อปี โดยส่วนใหญ่มาจากการนำวัสดุเหลือใช้มาทำปุ๋ยหมัก การผลิตอาหารสัตว์ และการลดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช
ด้านสังคม เกษตรกรร้อยละ 89 มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สืบเนื่องจากการมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดรายจ่ายในครัวเรือน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น นอกจากนี้เกษตรกรร้อยละ 45 มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรม เช่น กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมังคุด กลุ่มเกษตรกรทำปุ๋ยหมักเติมอากาศ และมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในพื้นที่โครงการ/ชุมชน เช่น ปลูกพืชในแปลงเรียนรู้ ร่วมกันดูแลรักษาพัฒนาแปลงเรียนรู้ ด้านสิ่งแวดล้อม เกษตรกรร้อยละ 72 มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในแปลงเกษตร โดยร้อยละ 93 ดินชุ่มชื้นและมีคุณภาพดีขึ้น ร้อยละ 79 ในแปลงทำการเกษตรมีสิ่งมีชีวิตในดินมีปริมาณเพิ่มขึ้นเนื่องจาก เกษตรกรใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชมากขึ้น
ในภาพรวมเกษตรกรมีความพอใจต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมากที่สุด และมีความตั้งใจทำกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมไปเผยแพร่/ขยายผลให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ ทั้งนี้ โครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่ง สศก. จะได้มีการติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ มานำเสนอต่อไป
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร