เกษตรฯ เฝ้าระวังการระบาดหนอนกระทู้หอม

171

กรมส่งเสริมการเกษตรสั่งเข้มเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ เฝ้าระวังการระบาดหนอนกระทู้หอมในมันสำปะหลัง เร่งสกัดการระบาดในพื้นที่

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับรายงานจากเกษตรจังหวัดกาญจนบุรีว่า พบการระบาดของหนอนกัดกินต้นมันสำปะหลัง ในพื้นที่อำเภอพนมทวน อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอบ่อพลอย รวมพื้นที่ที่ได้แจ้งการระบาด จำนวนกว่า 7 พันไร่ เกษตรกรกว่า 600 ราย กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้มอบหมายให้นางดวงสมร พฤฑฒิกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งลงพื้นที่ร่วมกับนายวีระศักดิ์ สุขทอง เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นางสาวมาลินี หนูงาม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี นักกีฏวิทยาจากกรมวิชาการเกษตร เกษตรอำเภอพนมทวน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสำรวจแมลงศัตรูพืชดังกล่าว พบว่าเป็นหนอนกระทู้หอม จึงมีการประชุมร่วมกันเพื่อสรุปแนวทางวิธีการปฏิบัติสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กรณีพบการระบาด ดังนี้

  • 1) เมื่อพบตัวหนอนหรือกลุ่มไข่ในแปลงให้เก็บ และนำมาทำลาย พร้อมกำจัดวัชพืชที่อยู่ในแปลง และบริเวณรอบแปลง
  • 2) ฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ผสมน้ำ 20 ลิตร เช่น คลอฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 40 -50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 13) หรืออินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 22)  หรืออิมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% W/V EC อัตรา 40 มิลลิลิตร หรือ 5% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 6) หรือคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 28) หลังจากพ่นสารเคมีแล้ว 1-2 วัน เกษตรกรต้องสำรวจแปลง หากยังพบการระบาดของหนอนกระทู้ให้พ่นสารเคมีซ้ำ และควรสลับกลุ่มสารเคมี เพื่อป้องกันการดื้อยา หากการระบาดของหนอนลดลงให้ควบคุมด้วยชีวภัณฑ์ โดยฉีดพ่นเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส (Bt) อัตรา 80 มิลลิลิตรผสมน้ำ 20 ลิตร หรือไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอม อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วัน หลังจากฉีดพ่นสารเคมีแล้ว 15 วัน

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังที่ยังไม่พบการระบาด กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้

  • 1) ใช้วิธีเขตกรรม เช่น การไถตากดิน และการเก็บเศษซากพืชอาหาร เพื่อกำจัดดักแด้และลดแหล่งอาหารในการขยายพันธุ์
  • 2) ใช้วิธีกล โดยการเก็บกลุ่มไข่ และหนอนทำลาย
  • 3) ใช้แมลงศัตรูธรรมชาติ ที่พบเข้าทำลายหนอนกระทู้หอม ได้แก่ มวนพิฆาต แมลงหางหนีบ
  • 4) ใช้สารสกัดสะเดา อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 3 วัน 3-4 ครั้งต่อเนื่อง
  • 5) ใช้เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส (Bt) อัตรา 100 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 3-5 วัน เมื่อพบการระบาด หากมีการระบาดรุนแรงให้พ่นติดต่อกัน 2 ครั้ง หลังจากนั้นพ่นทุก 5 วัน จนกระทั่งหนอนลดปริมาณการระบาด
  • 6) ใช้ไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอม อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วัน ควรพ่นเมื่อหนอนมีขนาดเล็กจะให้ผลในการควบคุมได้รวดเร็ว กรณีหนอนระบาดรุนแรงให้พ่นวันเว้นวัน
  • 7) ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ผสมน้ำ 20 ลิตร เช่น คลอฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 40 -50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 13) หรืออินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 22) หรืออิมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% W/V EC อัตรา 40 มิลลิลิตร หรือ 5% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 6) หรือคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 28)

 “ผมได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดกาญจนบุรีจัดทีมนักส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่ทุกอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด และให้คำแนะนำในการป้องกัน กำจัด พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเบื้องต้น พร้อมรายงานผลการดำเนินงานให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบเป็นรายวัน ซึ่งจะช่วยให้การควบคุมสถานการณ์เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคาดหวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงโดยเร็ว” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย

กรมส่งเสริมการเกษตร