การยางแห่งประเทศไทย ร่วมทัพหารือ WTO ประกาศชัด! พร้อมดันยาง EUDR ไทยสู่ตลาดโลก

เมื่อเร็วๆนี้ (12 มิ.ย. 67) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำทีมโดย ดร.เพิก เลิศพังวง ประธานบอร์ด กยท. พร้อมด้วย นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ ร่วมประชุม ‘ห่วงโซ่คุณค่าที่ปราศจากการตัดไม่ทำลายป่า’ ของ WTO และคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งจัดขึ้นโดย ศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (ITC) มุ่งเน้นการมีส่วนรวมของประเทศกำลังพัฒนา-ประเทศตลาดใหม่ ด้าน กยท.ประกาศย้ำ! ยางไทยปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า พร้อมเป็นผู้นำผลิตยาง EUDR ในตลาดโลก

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยในการประชุมเฉพาะทางด้านห่วงโซ่คุณค่าที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าของคณะกรรมการองค์การการค้าโลก (WTO) และคณะกรรมาธิการยุโรป (EU Commission) ว่า กยท. มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลยางพาราของไทยอย่างครอบคลุมทั้งระบบ โดยมีวิสัยทัศน์ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางชั้นนำของโลกที่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ของสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบัน กยท. ได้ดำเนินการ Kick Off โครงการ “Ready for EUDR” ซื้อขายยางที่ได้รับการประเมินและแบ่งประเภทยางที่มีคุณสมบัติที่เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR ซึ่ง กยท. ได้เตรียมข้อมูลโดยมีระบบขึ้นทะเบียนบัญชีเกษตรกรชาวสวนยาง การเก็บข้อมูลแปลงสวนยางที่ระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ลงในแพลตฟอร์มระดับชาติซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้ โดย กยท. มีแนวทางดำเนินหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการประเมินและจัดการความเสี่ยงในเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าและกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน (การใช้แรงงานผิดกฎหมาย)
นอกจากการจัดแยกประเภทยาง EUDR แล้ว กยท. ยังสนับสนุนเกษตรกร ผู้ประกอบการ ในการจัดหาวัตถุดิบ ตลอดจนช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถผลิตยางได้ตามมาตรฐาน EUDR รวมถึงมาตรฐานอื่นๆ เช่น FSCTM และ PEFCTM การดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิตในสวนยาง และการพัฒนาสวนยางแบบเกษตรกรรมยั่งยืน (วนเกษตร) นอกจากนี้ กยท. ยังผลักดันให้เกิดโครงการโฉนดต้นยางพาราเพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และยังช่วยเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตยางในพื้นที่ดังกล่าว



ดร.เพิก กล่าวเพิ่มเติมว่า มีเกษตรกรรายย่อยที่ยังขาดการรับรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR และความซับซ้อนเกี่ยวกับวันที่ตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพื้นที่ปลูกทดแทนยาง อย่างไรก็ตาม กยท. กำลังนำกลยุทธ์ระดับประเทศมาใช้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทาน และมีความพยายามในการดำเนินมาตรการต่างๆ ร่วมกันของเรา ซึ่งจะสามารถบรรเทาและแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ด้วยมาตรการที่ครอบคลุมและการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดของ กยท. ทำให้ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นผู้นำด้านการผลิตยางพาราในตลาดโลกภายใต้มาตรฐาน EUDR ซึ่งมั่นใจได้ว่าปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เป้าหมายของ กยท. ไม่ใช่เพียงแค่การปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างมาตรฐานคุณภาพในฐานะประเทศผู้นำการส่งออกยางของโลก” ดร. เพิก กล่าวย้ำ




การยางแห่งประเทศไทย