สศท.2 ติดตาม ‘โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน’

3,233

สศท.2 เผยผลการติดตาม ‘โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน’ จ.อุตรดิตถ์ ช่วยเกษตรกรมีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น

นางธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพื้นที่ตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 8 หมู่บ้าน รวม 1,295 ครัวเรือน และมีประชากรทั้งสิ้น 4,540 คน ครอบคลุมพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน 263.09 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นการขยายผลการดำเนินงานของโครงการไปยังชุมชน และหมู่บ้านใกล้เคียงในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยเริ่มดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ การอนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความอุดมสมบูรณ์ การรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพและส่งเสริมการตลาดอย่างเป็นระบบ และประชากรในพื้นที่เป้าหมายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามความเหมาะสมของสภาวะแวดล้อมชุมชน ทั้งนี้ มีหน่วยงานร่วมบูรณาการทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สศท.2 เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามผลการดำเนินงาน และเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงรูปแบบ กระบวนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการดังกล่าว

นางธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก

จากการลงพื้นที่ของ สศท.2 เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 50 ราย ซึ่งในภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด หากพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า ด้านการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เกษตรกรทุกรายที่เข้าร่วมโครงการ สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้เฉลี่ย 2,798 บาท/ครัวเรือน/ปี หรือลดลงร้อยละ 52 จากการปรับเปลี่ยนมาบริโภคสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ในครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านพืชเฉลี่ย 1,356 บาท/ครัวเรือน/ปี ด้านประมง บริโภคปลาที่เลี้ยงในบ่อ/สระของตนเอง เฉลี่ย 1,017 บาท/ครัวเรือน/ปี และด้านปศุสัตว์ บริโภคไก่และไข่ไก่ที่เลี้ยงไว้เฉลี่ย 425 บาท/ครัวเรือน/ปี ด้านการเพิ่มขึ้นของรายได้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 88 มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตที่ได้จากทำการเกษตรแบบผสมผสาน อาทิ ยางพารา เงาะ พืชผักสวนครัว ไก่พื้นเมือง ปลานิล และปลาตะเพียน ส่วนอีกร้อยละ 13 รายได้ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากผลผลิตบางส่วนที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการยังไม่ครบอายุที่จะสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่ลดลงและการเพิ่มของรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตสามารถสะท้อนภาพของรายได้ในครัวเรือนของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากรายได้เดิมเฉลี่ย 11,598 บาท/ครัวเรือน/ปี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17

ทั้งนี้ สศท.2 ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงรูปแบบหรือกระบวนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขี้น อาทิ การเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของข้าว ซึ่งอาจดำเนินการด้วยการคิดค้น วิจัย พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรค หรือการส่งเสริมการใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การพัฒนาแหล่งน้ำให้สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง การพัฒนาระบบกระจายน้ำให้ทั่วถึงพื้นที่ทำการเกษตรโดยเฉพาะแปลงนาข้าว การสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับการขยายพันธุ์สัตว์น้ำที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ สร้างความหลากหลายในระบบนิเวศ ตลอดจนควรเน้นย้ำให้เพิ่มหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมบูรณาการทำงานตามภารกิจให้มากขึ้น โดยอาศัยกระบวนการปรับรูปแบบการบริหารจัดการด้านงบประมาณของหน่วยงานให้ช่วยสนับสนุนงานในระดับพื้นที่ และดำเนินกิจกรรมช่วงเวลาดำเนินงานให้สอดคล้องเหมาะสมกับกิจกรรมทางการเกษตร และตรงกับความต้องการของเกษตรกร อีกทั้ง ควรคัดเลือกเกษตรกรที่มีความสนใจและเต็มใจ เข้าร่วมโครงการอย่างแท้จริง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร

อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2568 สศท.2 ยังคงติดตามผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการวางแผนติดตามผลการดำเนินโครงการที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2567 มุ่งเน้นการติดตาม จำนวน 7 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการนำไปใช้ประโยชน์ 2) ด้านประสิทธิภาพการผลิต 3) ด้านเศรษฐกิจ 4) ด้านสังคม 5) ด้านสภาพแวดล้อมและทรัพยากรการเกษตร 6) ด้านโภชนาการและสุขภาพ และ 7) ด้านการพัฒนาต่อยอดขยายผล เพื่อติดตามผลได้จากการดำเนินงานด้านการฝึกอบรมว่ามีการนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติและติดตามผลกระทบระยะสั้นที่เกิดจากการเข้าอบรม รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และเสนอข้อคิดเห็นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานกิจกรรมการฝึกอบรม ทั้งนี้ หากท่านสนใจรายละเอียดผลการติดตามโครงการฯ เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.2 โทร 0 5532 2650 และ 0 5532 2658 หรือ อีเมล์ [email protected]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร