กยท. บูรณาการแนวทางยับยั้งโรคใบร่วงชนิดใหม่ฯ

172

การยางแห่งประเทศไทย เน้นนโยบายเชิงรุก บูรณาการแนวทางยับยั้งโรคใบร่วงชนิดใหม่ฯ พร้อมติดอาวุธความรู้แก่เกษตรกร พัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (26 มิ.ย. 67) ณ สหกรณ์การเกษตรนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา – การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำโดย ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการ กยท. พร้อมคณะผู้บริหาร นักวิจัย และนักวิชาการเกษตร กยท. เปิดเวทีพบปะและรับฟังพี่น้องชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา (ใบจุดกลม Colletotrichum) เพื่อร่วมกันศึกษา พัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง พร้อมติดอาวุธให้ความรู้ มุ่งเสริมการประกอบอาชีพให้เกษตรกรทุกระดับชั้นอย่างยั่งยืน

ดร.เพิก เลิศวังพง เผยว่า เป้าหมายหลักสำคัญที่มุ่งเน้น คือ ราคายางพารา ซึ่งการบริหารจัดการยางพาราให้ถูกวิธีและเป็นระบบเท่านั้นจะสามารถส่งผลดีต่อราคายางได้ โดยเฉพาะการบูรณาการร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ย่อมเกิดผลดีนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสิ่งที่จะต้องยึดถือมาก่อนเป็นอันดับแรกก็คือความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยาง

“ยางพาราเป็นพืชเกษตรชนิดเดียวที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ทุกวัน การสร้างมาตรฐานราคายางให้มีเสถียรภาพในระดับที่เหมาะสม เกษตรกรอยู่ได้และมีความพอใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ ตนจึงขออาสาเข้ามาดูแลเรื่องราคายางให้ดีที่สุด ซึ่งทำได้โดยการใช้มาตรการทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การดำเนินการเรื่องการลักลอบนำเข้ายางผิดกฎหมายอย่าจริงจัง ควบคู่ไปกับการเร่งออกโฉนดไม้ยางให้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ที่จะใช้ประโยชน์จากต้นยางที่ปลูกและดูแล ทั้งนี้ ยังจะทำให้ต้นยางทุกต้นบนแผ่นดินไทยสามารถระบุพิกัดต้นยางได้ และข้อมูลต้นยางเหล่านั้นจะสามารถคำนวณปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนได้ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในสวนยาง เป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง” ประธานกรรมการ กยท. กล่าว

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ กยท. กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนยางพาราตามหลักนโยบาย “อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน” ของ ดร.เพิก เลิศวังพง ว่า กยท. มุ่งผลักดันมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ยางชนิดใหม่ที่สามารถให้ปริมาณผลผลิตที่มากขึ้น ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางยังคงสามารถประกอบอาชีพ “อยู่ได้” โดยการติดอาวุธความรู้และเครื่องมือในการประกอบอาชีพ มุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม เช่น การสนับสนุนการทำโซล่าเซลล์ในสวนยาง และนโยบายการทำปัจจัยการผลิตแบรนด์ กยท. เพื่อลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและการทำอาชีพเสริมในสวนยาง เช่น พืชแซม ปศุสัตว์ และการทำประมง เพิ่มรายได้ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต นำไปสู่ความ “พอใจ” ซึ่ง กยท. ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการโรคใบร่วงฯ อย่างจริงจัง พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ค้นคว้างานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ นอกจากนี้ยังพร้อมขับเคลื่อนให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตได้ เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR ตลอดจนนโยบายการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพารา เช่น ล้อยางแบรนด์ Greenergy Tyre หมอน ที่นอน ตลอดจนผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอื่นๆ เช่น แบริเออร์ และเสาหลักนำทาง ทั้งหมดนี้จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ยางพารา สามารถช่วยให้ราคายางเกิดเสถียรภาพ เพิ่มรายได้เกษตรกรให้มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่าง “ยั่งยืน”

ดร. กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวว่า  ปัจจุบันมีพื้นที่สวนยางได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ฯ จำนวน 28,840 ไร่ ลดลงร้อยละ 97.35 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา กยท. ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคฯ แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง การจัดหาสารเคมีที่ทดสอบแล้วมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น โพรพิโคนาโซล + ไดฟิโนโคนาโซล การบำรุงรักษาต้นยางและการลดเชื้อในสวนยาง ผ่านโครงการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ชีวภัณฑ์ ซึ่งมีการทดสอบในแปลงสวนยางเกษตรกรต้นแบบ ซึ่งมีแปลงสวนยางใน อ.นาทวี จ.สงขลา เข้าร่วมทดสอบเป็นพื้นที่กว่า 400 ไร่ รวมไปถึงการพัฒนาพันธุ์ยางต้านทานโรคฯ เช่น PB 235, BPM 1 RRIT 3904 ทั้งนี้ กยท. ได้เริ่มบูรณาการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและเกษตรกร ทดสอบและจัดหาปุ๋ย ชีวภัณฑ์ และสารอื่นๆ เพื่อให้ได้แนวทางการแก้ปัญหาการระบาดของโรคฯ ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด

“การพบปะและรับฟังเสียงสะท้อนจากพี่น้องชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากโรคใบร่วงชนิดใหม่ฯ และร่วมกันศึกษาแนวทางพัฒนาการป้องกัน ค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเฝ้าระวังและกำจัดโรคฯ จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวสวนยางโดยตรง สามารถยกระดับคุณภาพผลผลิตและรายได้ และคุณภาพชีวิตให้มีความยั่งยืนได้” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวในที่สุด  

การยางแห่งประเทศไทย