กรมส่งเสริมการเกษตร ปั้นผู้นำยุวเกษตรกรระดับอุดมศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่
นายสุริยะ คำปวง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนที่สนใจด้านการเกษตร อายุระหว่าง 10 – 25 ปี รวมตัวกันจัดตั้งเป็น “กลุ่มยุวเกษตรกร” เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะอาชีพการเกษตร ทักษะการดำเนินชีวิตในสังคม โดยเน้นวิธีการเรียนรู้จากประสบการณ์และการปฏิบัติจริง (Learning by doing) การใช้กระบวนการกลุ่มยุวเกษตรกรเป็นกลไกในการพัฒนาทักษะด้านการเกษตรและเคหกิจเกษตร และสร้างทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 มีการเชื่อมโยงและวางแนวทางการสร้างกำลังคนเข้าสู่ภาคการเกษตร ผ่านการส่งเสริมการดำเนินงานกลุ่มยุวเกษตรกรในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาและเตรียมความพร้อมสู่การเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ สามารถสร้างรายได้ให้ตนเองได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน และในปัจจุบันนี้เอง กรมส่งเสริมการเกษตรมีกลุ่มยุวเกษตรกรในสถาบันการศึกษา (ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า และระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า) จำนวน 4,917 กลุ่ม สมาชิก 52,624 ราย กลุ่มยุวเกษตรกรนอกสถาบันการศึกษา จำนวน 48 กลุ่ม สมาชิก 484 ราย และกลุ่มยุวเกษตรกรแบบผสมผสาน จำนวน 27 กลุ่ม สมาชิก 221 ราย โดยยุวเกษตรกรระดับอุดมศึกษา เป็นกลุ่มคนที่มีความพร้อมต่อการพัฒนาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ของกรมส่งเสริมการเกษตรได้ต่อไปในอนาคต
กรมส่งเสริมการเกษตร ไม่เคยหยุดการพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกร โดยในปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีบันทึกความเข้าใจกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เพื่อสร้างความร่วมมือในการผลิตและพัฒนาคนในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนากำลังคนภาคการเกษตร ส่งเสริมสนับสนุนบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ยุวเกษตรกร เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer และ Smart Farmer ตลอดจนพัฒนาบุคลากรทั้งสองฝ่าย โดยการแบ่งปันทรัพยากรบุคคล นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ วัสดุอุปกรณ์ และข้อมูลด้านการส่งเสริมการเกษตรซึ่งกัน และเมื่อเร็วๆนี้ได้ร่วมกันจัดสัมมนาพัฒนาทักษะผู้นำยุวเกษตรกรในระดับอุดมศึกษา จำนวน 120 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายกลุ่มยุวเกษตรกรในระดับอุดมศึกษา 2) เสริมสร้างองค์ความรู้ผ่านหลักสูตรต่าง ๆ เช่น การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม และเสริมสร้างองค์ความรู้การจัดทำแผนธุรกิจ (Business Model Canvas) ให้แก่สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรในระดับอุดมศึกษา และ 3) เชื่อมโยงเครือข่ายเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรด้านการพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรในระดับอุดมศึกษา
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเล็งเห็นว่ากลุ่มยุวเกษตรกรในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า นับเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีการใช้วิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและการพัฒนา จึงถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ สอดรับกับนโยบายและเป้าหมายการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเป็น 3 เท่า ภายใน 4 ปี และการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรและอาหาร ด้วย 3S ได้แก่ ความปลอดภัยทางอาหาร (Safety) ความมั่นคง (Security) และความยั่งยืนของทรัพยากรและนิเวศการเกษตร (Sustainability)
กรมส่งเสริมการเกษตร