ปลอดภัยไว้ก่อน! ช่วงฤดูฝน ฟังพยากรณ์อากาศช่วยเกษตรกรพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้คุ้มค่า
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับมรสุม โดยในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งสภาพอากาศ ลม และฝน ล้วนเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการเพาะปลูก โดยเฉพาะการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้มีประสิทธิภาพ จะต้องใช้ปริมาณสารและปริมาณน้ำอย่างถูกต้อง ไม่พ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชขณะฝนตกหรือมีแนวโน้มว่าฝนตก กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแนะนำเกษตรกรทั่วประเทศ ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ หากฝนตกหลังจากพ่นสารเคมีภายใน 15 นาที จะต้องพ่นสารเคมีใหม่อีกครั้งซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองต้นทุนและแรงงานไปโดยเปล่าประโยชน์ การพ่นสารที่ดีจึงควรพ่นในช่วงเวลาที่ฝนหยุดและลมสงบ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของสาร ซึ่งนิยมพ่นในตอนเช้าและเย็น ไม่ควรเดินผ่านแนวพ่น และควรพ่นให้ทับแนวเดิมน้อยที่สุด
การเตรียมการก่อนพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช คือ ต้องทราบชนิดศัตรูพืช สามารถแยกชนิดของศัตรูพืชได้ถูกต้อง รวมถึงมีความรู้ในเรื่องวงจรชีวิตของศัตรูพืชแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน ได้แก่ ระยะการเจริญเติบโต การขยายพันธุ์ การแพร่กระจาย เป็นต้น เพื่อให้สามารถเลือกใช้สารเคมีได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ควรอ่านฉลากอย่างละเอียดและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องพ่นสาร หากพบการชำรุดให้ทำการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนส่วนที่ชำรุดทันที ตลอดจนผู้พ่นหรือผู้ใช้สารเคมี ต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน ได้แก่ แว่นตา หน้ากาก รองเท้าบูทยาง ถุงมือยาง และชุดป้องกันสารเคมี เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สารเคมีถูกผิวหนัง เข้าตา หรือการสูดหายใจเข้าสู่ร่างกาย ขณะพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ผู้พ่นควรอยู่เหนือลมและหันหัวฉีดไปใต้ลม โดยพ่นจากแถวของพืชปลูกที่อยู่ทางทิศใต้ลมไปเหนือลม ควรหยุดพักเมื่อลมแรงหรือมีลมหวน
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ให้เกษตรกรทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องพ่นสารเคมีในบริเวณที่ห่างไกลจากแหล่งน้ำหรือพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ทำความสะอาดเสื้อผ้าที่สวมใส่ในการพ่นสารเคมีโดยแยกซักต่างหาก ไม่นำไปซักรวมกับเสื้อผ้าอื่น สำหรับขวดบรรจุสารที่ใช้หมดแล้วควรล้าง 3 ครั้ง ก่อนทำลายด้วยการฝังและควรเลือกที่ฝังให้เหมาะสม โดยห่างจากแหล่งน้ำและเลือกดินที่ฝังชนิดดินเหนียว ขุดหลุมลึกประมาณ 1.50 เมตร รองก้นหลุมด้วยปูนขาว และกลบทับด้วยปูนขาวอีกครั้ง
กรมส่งเสริมการเกษตร