กรมประมง…เร่งหยุดการแพร่พันธุ์ปลาหมอคางดำ

718

ตัดราก ถอนโคน! กรมประมง…เร่งพัฒนางานวิจัยด้านพันธุกรรม หยุดการแพร่พันธุ์ปลาหมอคางดำ แก้ปัญหาการระบาดที่ต้นตอ

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดงาน Kick off “โครงการวิจัย การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n  ในปลาหมอคางดำ” ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายอาคม ชุ่มธิ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ นายคงภพ อำพลศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ และหัวหน้าหน่วยงานกรมประมงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ว่าการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยอย่างรุนแรงเป็นวงกว้าง จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจของภาคการประมงและในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศแหล่งน้ำจืดและ  น้ำกร่อย เนื่องจากลักษณะเฉพาะของปลาชนิดนี้ที่มีความสามารถในการปรับตัวให้ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการแย่งชิงแหล่งอยู่อาศัยกับปลาท้องถิ่น และมีพฤติกรรมการกินอาหารได้ในวงกว้าง รวมถึงอัตราการแพร่พันธุ์ที่รวดเร็วมาก เมื่อปลาหมอคางดำหลุดรอดลงสู่บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำหรือแหล่งน้ำใดก็ตาม ส่งผลทำให้ปลาชนิดอื่น ๆ ลดจำนวนลงและปลาหมอคางดำกลายเป็นชนิดหลักในแหล่งน้ำนั้นแทน

จากปัญหาดังกล่าว ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญและมีข้อสั่งการให้กรมประมงเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำธรรมชาติ ผ่าน 5 มาตรการสำคัญ ดังนี้1) การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด 2) การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ   3) เป็นการนำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ 4) การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่าง ๆ และ 5) การประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน

อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการวิจัย เรื่อง การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ กรมประมงได้มีแนวทางในการควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำด้วยหลักการทางพันธุศาสตร์ โดยการศึกษาสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษเหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้    ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) การผสมพันธุ์นี้จะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม   3 ชุด (3n) ซึ่งลูกปลาที่มีโครโมโซม 3 ชุดนี้จะกลายเป็นปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้ ในเบื้องต้นของการศึกษานี้จะทดลองในบ่อทดลองเลียนแบบธรรมชาติภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 18 เดือน และหากผลการวิจัยนี้สามารถควบคุมการเพิ่มจำนวนประชากรปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะขยายผลไปยังแหล่งน้ำอื่น ๆ ต่อไป และเมื่อดำเนินการควบคู่กับวิธีการควบคุมอื่น ๆ เช่น การใช้ปลาผู้ล่า และการจับปลา   ไปใช้ประโยชน์ ก็จะส่งผลให้การเพิ่มจำนวนปลาหมอคางดำรุ่นใหม่ลดลงจนสามารถควบคุมการระบาดได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม แม้ว่างานวิจัยนี้จะเป็นแนวทางที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้อย่างดีเยี่ยม กรมประมงยังคงตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของสัตว์น้ำอื่น ๆ ในธรรมชาติ ดังนั้น จึงต้องดำเนินการศึกษาอย่างละเอียดและรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

“กรมประมงขอขอบคุณประชาชนที่ตื่นตัวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และต้องขอทำความเข้าใจผ่านสื่อต่าง ๆ ไปยังพี่น้องประชาชนอีกครั้งว่า ปลาหมอคางดำไม่ใช่ปลาอันตราย ไม่มีพิษ และสามารถบริโภคได้ ที่สำคัญยังใช้ประโยชน์ได้หลายประเภท ซึ่งจะช่วยในส่วนของการควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และนอกจากนี้การลดการเกิดของประชากรปลาหมอคางดำก็เป็นสิ่งที่กรมประมงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการตัดตอนปัญหาตั้งแต่ต้น กรมประมงได้เริ่มดำเนินโครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ และคาดว่าหากสัมฤทธิ์ผลจะสามารถแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำได้อย่างชัดเจนภายใน 3 ปี”…นายบัญชา สุขแก้ว กล่าวทิ้งท้าย

กรมประมง