กองทุน FTA ติดตามโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตโคเนื้อสุรินทร์วากิวครบวงจร หนุนวิสาหกิจชุมชนโคขุนสุรินทร์โกเบครบวงจร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อได้สำเร็จ
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ทำให้สินค้าอ่อนไหว เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู นม และเนย ลดภาษีลงเป็น 0 ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นมา สินค้าเกษตรดังกล่าวจะไม่มีการเก็บภาษีและไม่จำกัดปริมาณการนำเข้า ทำให้มีเนื้อโคจากออสเตรเลียนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อโคคุณภาพภายในประเทศ โดยเฉพาะเนื้อโคขุนคุณภาพไขมันแทรก ซึ่งมีผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศและสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคของไทยสามารถผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพแทรกได้เอง จะทำให้ไทยลดการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศได้
กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) จึงให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อสุรินทร์วากิวครบวงจร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เกษตรกรของกรมปศุสัตว์ ให้กับวิสาหกิจชุมชนโคขุนสุรินทร์โกเบครบวงจร ตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อลูกผสมสายพันธุ์วากิวด้วยการบริหารจัดการเลี้ยงโคขุนรูปแบบคอกกลาง และเพิ่มช่องทางในการแข่งขันการผลิตเนื้อโคลูกผสมไทยวากิวคุณภาพ ซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมติคณะกรรมการบริหารกองทุน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ได้อนุมัติเงินจำนวน 21,887,400 บาท (ระยะปลอดหนี้ 3 ปีแรก) แยกเป็นเงินจ่ายขาดจำนวน 600,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อและการติดตามงาน/บริหารโครงการของเจ้าหน้าที่ และเป็นเงินยืมปลอดดอกเบี้ยจำนวน 21,287,400 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการจัดซื้อลูกโคหย่านม และอาหารเลี้ยงโคขุน
ล่าสุด สศก. โดยกองทุน FTA ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 (สศท.5) ได้ติดตามการดำเนินโครงการ ของวิสาหกิจชุมชนโคขุนสุรินทร์โกเบครบวงจร ตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ระหว่างวันที่ 24 – 28 มิถุนายน 2567 พบว่า ปัจจุบัน ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตโคเนื้อลูกผสมสุรินทร์วากิวให้กับเกษตรกรสมาชิกแล้ว จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ การจัดการฟาร์มเพื่อผลิตลูกโคต้นน้ำคุณภาพและการจัดการฟาร์มโคขุนคุณภาพ และดำเนินการเลี้ยงโคขุนลูกผสมพันธุ์วากิวครบวงจร ตั้งแต่การผลิตลูกโคต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และการจำหน่าย โดยในปี 2565 – 2566 ที่ผ่านมา วิสาหกิจชุมชนฯ สามารถนำโคเข้าขุนในคอกกลางได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ (240 ตัว/ปี) สามารถจำหน่ายโคขุนแล้ว 110 ตัว มีระดับเกรดไขมันแทรก 3.5 – 4.5 ซึ่งเป็นเกรดคุณภาพโดยส่งขายร้านอาหารทั่วประเทศ ได้แก่ ร้านเดอะบุชเชอร์กินซะโด กทม. ร้านแซมมีทบุชเชอร์ จันทบุรี และร้านมอสบุชเชอร์ นครราชสีมา และบริษัท ไอ-ซีวาย ชยา จำกัด เชียงใหม่ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ายังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค
ภาพรวมเกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายโคขุนเฉลี่ย 100,000 บาท/ตัว โดยวิสาหกิจชุมชนฯ ได้หักเงินจากรายได้เพื่อเก็บไว้ชำระหนี้กองทุนฯ ตัวละ 11,100 บาท นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถผสมอาหารโคขุนเอง โดยทุกคอกกลางใช้สูตรอาหารเดียวกัน ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งอาหาร และไม่ต้องจ้างแรงงานในการผสมอาหารโคขุน เนื่องจากเกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ในฟาร์ม ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโคขุนลดลง และถึงแม้ว่าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์บางชนิดจะมีการปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ปลายข้าว และรำ แต่เกษตรกรสามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ทำให้วิสาหกิจชุมชนฯ สามารถรวบรวมเงินทยอยส่งชำระหนี้แล้วในปีที่ 1 ได้ครบก่อนกำหนดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 จำนวน 2,664,000 บาท (ครบกำหนดชำระในวันที่ 9 สิงหาคม 2567) ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรที่สนใจ สามารถขอคำปรึกษาโครงการต่างๆ ได้ที่ 0 2561 4727 หรือ อีเมล [email protected]
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร