เกษตรฯ จัดงาน เปิดโลกแมลงเศรษฐกิจ

1,053

เกษตรจัดงาน “เปิดโลกแมลงเศรษฐกิจ คุณค่าและความสมดุลแห่งอนาคต” เวทีดันเกษตรกร ต่อยอดสร้างมูลค่าแมลงเศรษฐกิจไทย

กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร และสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จัดกิจกรรม “เปิดโลกแมลงเศรษฐกิจ คุณค่าและความสมดุลแห่งอนาคต” ในระหว่างวันที่ 11 – 12 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรและบุคคลทั่วไป ได้ทราบถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านแมลงเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับการผลิตแมลงเศรษฐกิจ ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดเครือข่ายระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ โดยได้รับเกียรติจากนายวีรศักดิ์  บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดงาน

นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจเป็นอาชีพที่เกษตรกรให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการนำแมลงเศรษฐกิจไปใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น แมลงจำพวกผึ้ง ได้แก่ ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง ที่มีประโยชน์โดยตรงคือช่วยผสมเกสรให้กับพืช เพิ่มประสิทธิภาพในการติดผลให้กับผลไม้หลายชนิดอย่างลิ้นจี่และลำไย รวมทั้งให้ผลผลิตที่เป็นประโยชน์ทางอ้อม คือ ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เช่น น้ำผึ้งดอกลำไย นมผึ้ง พรอพอลิส ไขผึ้ง ทั้งยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อบริโภคและอุปโภคได้อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังมีแมลงกินได้ ที่เป็นแมลงเศรษฐกิจสำคัญใประเทศไทย ได้แก่ จิ้งหรีด เป็นอาหารใหม่ (Novel Food) ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีปริมาณโปรตีนที่เทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ จึงเป็นที่สนใจของประเทศต่าง ๆ ในการนำมาเป็นอาหารในอนาคต (Future Food) เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชากรโลก และสำหรับแมลงเศรษฐกิจใช้สอยที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ ครั่ง เนื่องจากเป็นวัตถุดิบธรรมชาติในอุตสาหกรรมสีและสารเคลือบเงา ยังเป็นวัตถุดิบเริ่มต้นที่ไม่สามารถใช้สารเคมีอื่นมาทดแทนได้อีกด้วย

นายวุฒิศักดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผลผลิตน้ำผึ้งจากผึ้งพันธุ์ประมาณ 10,909 ตัน ได้ส่งออกน้ำผึ้งไปยังประเทศไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย จีน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 865.33 ล้านบาท และประเทศไทยส่งออกน้ำผึ้งเป็นอันดับที่ 20 ของโลก ครั่ง มีปริมาณการส่งออก 1,103.94 ตัน คิดเป็นมูลค่า 359.33 ล้านบาท ครั่งส่งออกไปยังประเทศ อินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สำหรับน้ำผึ้งจากผึ้งโพรงมีผลผลิตน้ำผึ้งโพรง 1,753 ตัน คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายภายในประเทศ ประมาณ 876.87 ล้านบาท ชันโรงมีผลผลิตน้ำผึ้ง 20 ตัน คิดเป็นมูลค่า 30.71 ล้านบาท จิ้งหรีด มีปริมาณการส่งออก 1.46 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.08 ล้านบาท ได้ส่งออกไปยังประเทศ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น จากตัวเลขของข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าแมลงเศรษฐกิจที่กล่าวมาทั้งหมดมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ สามารถนำรายได้เข้าประเทศและสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังสร้างมูลค่าจากผลผลิตพืชที่เพิ่มขึ้นจากแมลงช่วยผสมเกสรอีกจำนวนมาก

ด้านนายสุวิทย์ ดำแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การจัดงาน “เปิดโลกแมลงเศรษฐกิจ คุณค่าและความสมดุลแห่งอนาคต” ในครั้งนี้ เป็นช่องทางที่จะทำให้เกษตรกรและบุคคลทั่วไป ได้ทราบถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านแมลงเศรษฐกิจ ยกระดับการผลิตแมลงเศรษฐกิจ ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดเครือข่ายระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ ซึ่งกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย (1) การอภิปรายคณะ เรื่อง “แมลงเศรษฐกิจ คุณค่าและความสมดุลแห่งอนาคต” (2) นิทรรศการด้านแมลงเศรษฐกิจ จากหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องด้านแมลงเศรษฐกิจ (3) การแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์จากแมลงเศรษฐกิจของเกษตรกร จาก 15 จังหวัด (4) กิจกรรมสาธิต/แปรรูปแมลงเศรษฐกิจของศูนย์ปฏิบัติการ (5) การแข่งขันการทำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยใช้วัตถุดิบจากน้ำผึ้ง การจัดงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตราชบุรี, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง, มหาวิทยาลัยทักษิณ, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์, หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคีเครือข่ายอื่น ๆ และพี่น้องเกษตรกรจากกลุ่มแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ จากภาคใต้และภาคตะวันตก จำนวน 15 จังหวัด ได้มาร่วมกันจัดงานในครั้งนี้

ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร มีบทบาทหน้าที่ในการศึกษา วิจัย ทดสอบ ส่งเสริม และประยุกต์เทคโนโลยีการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแมลงเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาการผลิต ขยาย และกระจายพันธุ์แมลงเศรษฐกิจ ตลอดจนการให้บริการในการตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยโรคและศัตรูของแมลงเศรษฐกิจ และการตรวจคุณภาพเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์จากแมลงเศรษฐกิจ สำหรับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่สนใจด้านการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร ตำบลขุนกระทิง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร โทร 093-6423399 หรือ 077-658669 หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ ใกล้บ้านท่าน

กรมส่งเสริมการเกษตร