กรมส่งเสริมการเกษตร สร้างผู้ประกอบการให้บริการเกษตรอัจฉริยะ (ระบบน้ำอัจฉริยะ) สร้างอาชีพและขยายโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีการของเกษตรกรในระดับพื้นที่

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การทำการเกษตรในปัจจุบันจำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) ซึ่งเป็นการผสานกันของเทคโนโลยีด้านการเกษตรกับเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะการใช้ระบบอัตโนมัติต่างๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ของเกษตรกร รองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทดแทนแรงงานภาคเกษตรที่ลดลงจากการเคลื่อนย้ายแรงงานสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่น และการเข้าสู่สังคมสูงอายุที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ที่ผ่านมามีการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายและไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มเกษตรกร เนื่องจากเทคโนโลยียากเกินไปสำหรับเกษตรกร ขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลเชิงสถิติมารองรับการใช้งาน รวมทั้งขาดช่างเกษตรหรือผู้ประกอบการด้านเกษตรอัจฉริยะให้บริการในพื้นที่เกษตร ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะในประเทศไทยก็กำลังขยายตัว ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ขึ้น ทั้งการผลิตชุดอุปกรณ์เกษตรอัจฉริยะและเทคโนโลยีสมัยใหม่ การขาย การติดตั้งและการให้บริการหลังการขาย

กรมส่งเสริมการเกษตรเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาต่อยอดงานส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ โดยเฉพาะในเรื่องระบบการให้น้ำอัจฉริยะ (HandySense) ซึ่งดำเนินการร่วมกับ NECTEC มาตั้งแต่ปี 2564 ให้เกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจมากยิ่งขึ้น จึงดำเนินการพัฒนาความรู้และทักษะของเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทั้งในด้านเทคนิค และการทำธุรกิจให้กับเกษตรกร พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรที่มีความพร้อม ทั้งในด้านความรู้พื้นฐาน ทักษะ และประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเกษตร เพื่อพัฒนาต่อยอดความรู้ให้เป็นผู้ประกอบการเพื่อให้บริการทางเกษตรอัจฉริยะในระดับท้องถิ่นได้ในอนาคต เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะให้กับเกษตรกรและกลุ่มเครือข่ายได้มากยิ่งขึ้นต่อไป ผ่านกิจกรรมสร้างผู้ประกอบการเพื่อให้บริการทางเกษตรอัจฉริยะ (Agriculture Service Provider: ASP) ภายใต้โครงการสร้างเครือข่ายบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรร่วมกันของชุมชน



รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าว มีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเกษตรกรต้นแบบ หรือเป็นสมาชิกในเครือข่ายขับเคลื่อนการทำงานของกรมส่งเสริมการเกษตร เช่น ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์เครือข่าย ศพก. เกษตรกรรุ่นใหม่ (SF/YSF) เกษตรกรแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน ที่มีความพร้อมรับเทคโนโลยี สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ และมีความตั้งใจที่จะเป็นผู้ประกอบการการให้บริการเกษตรอัจฉริยะในเครือข่ายและชุมชน และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งจะดำเนินการ 2 ช่วง โดยในช่วงแรกจะดำเนินการปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ โดยวิทยากรของหน่วยงานภาคี ประกอบด้วย ประเด็นการออกแบบ Smart Farm ด้วยเทคโนโลยี HandySene B-farm ซึ่งพัฒนาต่อยอดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เกษตรกรสามารถออกแบบฟาร์มของตัวเองได้ และการใช้งานระบบ HandySense โดย NECTEC การออกแบบแผนธุรกิจ (Business Model Design) โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของชุมชนเกษตร โดย depa และการสนับสนุนสินเชื่อ โดย ธ.ก.ส. ในรูปแบบออนไลน์ และในช่วงที่ 2 จะเน้นการฝึกปฏิบัติจริงในเรื่องการติดตั้งและประกอบบอร์ดอุปกรณ์ Handy Sense และออกแบบ Smart Farm และฝึกปฏิบัติการวางแผนธุรกิจ เพื่อให้เกิดทักษะสำหรับเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบธุรกิจเกษตรอัจฉริยะและผู้ประกอบการธุรกิจการให้บริการเกษตรอัจฉริยะ



“เราต้องการจะพัฒนาให้เกษตรกรเหล่านี้เป็นผู้รู้ คือ ใช้งานเป็น ให้คำปรึกษาได้ ดูแลคนอื่นได้แบบครบวงจร ตั้งแต่สำรวจ ออกแบบ วางระบบ จัดหา ซ่อมบำรุง แนะนำด้านสินเชื่อ และให้บริการหลังการขายแก่ผู้ที่สนใจ พร้อมกับการสร้างเครือข่ายการให้บริการในชุมชน ขยายโอกาสให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถเข้าถึงระบบเกษตรอัจฉริยะ (ระบบน้ำ) ได้มากยิ่งขึ้น และคาดหมายว่าโมเดลการพัฒนานี้จะสามารถขยายผลต่อยอดไปสู่พื้นที่ข้างเคียงได้อย่างยั่งยืนต่อไป” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย




กรมส่งเสริมการเกษตร