กยท. ครบรอบ 9 ปี อวดโฉมเทคโนโลยี – นวัตกรรมยาง

6

การยางแห่งประเทศไทย ครบรอบ 9 ปี ชูแนว “RAOT Thai Rubber, The next chapter” เปิดบ้านต้อนรับ พร้อมอวดโฉมเทคโนโลยี – นวัตกรรมยาง

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ครบรอบปีที่ 9  เปิดบ้านต้อนรับ – โชว์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด “RAOT Thai Rubber, The next chapter” โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อม Kick off รถ Mobile จัดเก็บ CESS และการเปิดร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาง Greenergy Shop by RAOT

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในพิธีเปิดงาน
วันสถาปนา กยท. ครบรอบปีที่ 9 ว่า  9 ปีที่ผ่านมา กยท. เป็นองค์กรกลางที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ มีความผูกพันกับชีวิตพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางไทย และมีผลงานเด่นเป็นที่ประจักษ์หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1 ปีหลัง ที่มีการเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการด้านยางพาราอย่างจริงจัง จนเป็นที่ยอมรับและได้รับความน่าเชื่อถือจากกลุ่มผู้ซื้อและผู้เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมยาง ควบคู่กับมาตรการต่างๆ ภายใต้นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาและแก้ไขปัญหายางพาราอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ นโยบายการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ทำเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยางระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ภายใต้กฎระเบียบ EUDR ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการผลักดันโครงการโฉนดต้นยางพารา โฉนดเพื่อการเกษตรในพื้นที่สวนยาง แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน เพื่อนำไปต่อยอดในอาชีพ ช่วยให้พี่น้องชาวสวนยางมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

“กยท. เดินทางมาถึงปีที่ 9 ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 สิ่งสำคัญที่น่าภาคภูมิใจ คือ กยท. ได้ช่วยขับเคลื่อนการสร้างเสถียรภาพด้านราคายางและเพิ่มรายได้ให้พี่น้องชาวสวนยาง ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสูงสุดในรอบ 7 ปี ขอให้ภาคภูมิใจว่า องค์กรแห่งนี้
มีบทบาทสำคัญในการสร้างรากฐาน การขับเคลื่อน การพัฒนา ให้ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
ที่แข็งแกร่ง สู่การเป็นผู้นำด้านยางพาราที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”
ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวย้ำ

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติมอบรางวัลชนะเลิศสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางดีเด่น เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางดีเด่น ระดับประเทศ และมอบโล่รางวัลยกย่องเชิดชูคนดีมีคุณธรรม กยท. ประจำปี 2567 แก่พนักงานและลูกจ้างที่มีความทุ่มเท ตั้งใจทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คดโกงหรือหาผลประโยชน์อื่นใดในองค์กร เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการขับเคลื่อนงานตามภารกิจเพื่อประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในวงการยางพาราต่อไป

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า กยท. ก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 เพื่อเป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจรและได้เดินทางเข้าสู่ปีที่ 9 ในวันนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ทำให้เห็นแล้วว่าเรามุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาและแก้ไขปัญหายางพาราอย่างครบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องชาวสวนยาง และผู้ประกอบการ เช่น ระบบ Thai Rubber Trade ที่นำเทคโนโลยี Block chain มาใช้กับการซื้อขายยางในตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั้ง 8 แห่ง ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมั่นใจได้ว่าทุกกระบวนการเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และยังนำนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยในการจัดการยางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เริ่มจากการบริหารจัดการภายในสวนยาง ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณของผลผลิตยางยางพารา สร้างรายได้สูงสุดให้เกษตรกร รวมถึงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานยางพารา ผลักดันสู่สินค้าเชิงพาณิชย์ โดยการเปิดตัวล้อยางและผลิตภัณฑ์ยางภายใต้แบรนด์ “Greenergy” ของ กยท. ที่ใช้วัตถุดิบยางจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้น ขยายโอกาสการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา

นายสุขทัศน์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 9  กยท. จึงถือโอกาสนี้เปิดตัว “รถ Mobile Unit” ในโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ CESS (Smart CESS) ซึ่งเป็นรถตรวจสอบการชำระค่าธรรมเนียมของ กยท. มีการนำเทคโนโลยี GPS Tracking เข้ามาใช้ในการติดตามรถขนส่งยางที่ผู้ประกอบการลงทะเบียนไว้ โดยเตรียมประจำจุดให้บริการ ณ ด่านศุลกากรทั้ง 6 แห่ง กระจายทั่วประเทศในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวร้านค้า “Greenergy Shop by RAOT” ประจำ กยท. สำนักงานใหญ่ ซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากยางพารา เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคและเพิ่มช่องทางสร้างรายได้เกษตรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีกทางหนึ่ง

ภายในงานมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ การมอบหุ่นยางพาราฝึกช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปใช้เรียนรู้ ฝึกปฏิบัติให้แก่บุคลากรในสังกัดและประชาชนทั่วไป นอกจากนี้  มีการจัดแสดงผลงานเด่น งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านยางพาราของ กยท. อีกมากมาย รวมถึงโซนFarm Local to Global Showcase ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไทยสู่มาตรฐานโกอินเตอร์ (ของดี 7 เขต) จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราและสินค้าบริโภคซึ่งเป็นผลผลิตจากการจัดการสวนยางยั่งยืนจากเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ภายใต้การดูแลและสนับสนุนจาก กยท. ทั้ง 7 เขต

การยางแห่งประเทศไทย