เกษตรฯ นำเสนอผลงาน “แปลงใหญ่มังคุดตำบลท่ามะพลา จังหวัดชุมพร” ลุ้นดีเด่นรางวัลเลิศรัฐ ประเภทร่วมใจแก้จน
นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมต้อนรับและสรุปผลงานในภาพรวมให้คณะผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ ที่ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานเพื่อประกอบผลการพิจารณา ณ ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรหลังสวน จำกัด และพื้นที่แปลงใหญ่มังคุด ตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร ได้ส่งผลงานเรื่อง “ร่วมใจแก้จน คนแปลงใหญ่มังคุด ตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร” ในการเสนอผลงานเพื่อขอรับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี พ.ศ. 2567 ดำเนินการโดยสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอหลังสวน สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร เกษตรกร สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ และภาคีเครือข่าย ร่วมให้ข้อมูล ซึ่งรางวัลเลิศรัฐเป็นรางวัลที่สำนักงาน ก.พ.ร. มอบให้กับหน่วยงานของรัฐที่มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จและมีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงานภาครัฐทั้งปวง โดยจะมอบให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่สามารถพัฒนาคุณภาพการบริการ และระบบการบริหารงานเพื่อให้ประชาชนรวมทั้งส่งเสริมการบริหารราชการให้มีระบบหรือวิธีการที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน จนเกิดการทำงานร่วมกัน ตลอดจนพัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
นายสุบรรณ์ รักษ์ทอง เกษตรจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ผลงาน “ร่วมใจแก้จน คนแปลงใหญ่มังคุด ตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร” ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มแปลงใหญ่มังคุด ตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 154 ราย พื้นที่ปลูกมังคุด 850 ไร่ ได้ขยายการดำเนินงานไปสู่เครือข่ายกลุ่มมังคุด จำนวน 27 กลุ่ม ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ซึ่งความสำเร็จของการดำเนินงานเกิดจากการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ให้เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา เกิดการเปลี่ยนแปลง การใช้นวัตกรรม โดยส่งเสริมให้ผู้ปลูกมังคุดในตำบลท่ามะพลา รวมกลุ่มในการผลิตมังคุดคุณภาพเพื่อการส่งออก มีการสร้างองค์ความรู้ในการดูแลสวนร่วมกัน และรวบรวมผลผลิตมังคุดของสมาชิกเพื่อต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลาง และเริ่มจำหน่ายมังคุดโดยวิธีการประมูลครั้งแรกในปี 2548 ทำให้ราคามังคุดของกลุ่มสูงกว่าตลาดทั่วไป และปี 2553 กลุ่มได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ในชื่อ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์เรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา” เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนากลุ่ม และในปี 2559 กลุ่มได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่กับกรมส่งเสริมการเกษตร จัดตั้งเป็น “แปลงใหญ่มังคุด ตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร” โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคีที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวก เป็นการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการกลุ่มให้ยั่งยืน มีการผลิตสินค้าสอดคล้องกับตลาด สามารถแข่งขันกับภายนอกได้ ทำให้กลุ่มเกิดกิจกรรมลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ มีการพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ และมีการเชื่อมโยงกับตลาดเพื่อบริหารจัดการให้เกิดสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ของสินค้า ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และได้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ เกษตรกรทั่วไปและหน่วยงานภาคี ทั้งในจังหวัดชุมพร และจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เข้ามาเรียนรู้กิจกรรมการดำเนินงานของกลุ่มและรูปแบบการประมูลมังคุด ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ถอดบทเรียนเป็น “ท่ามะพลาโมเดล” จัดทำเป็นรูปเล่มเอกสารและเผยแพร่ไปทั่วประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนผลไม้ทั่วทั้งประเทศ และในปี 2564 กลุ่มได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยและเชื่อมโยงตลาด โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับกระทรวงพาณิชย์ ในนาม บริษัท ท่ามะพลา โมเดล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งผลงานดังกล่าวของกลุ่มได้ผ่านการตรวจประเมิน ในขั้นตอนที่ 1 ใน “ระดับดี” และเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจประเมินในขั้นตอนที่ 2 เพื่อพิจารณาคัดเลือกผลงานให้ได้รับรางวัลใน “ระดับดีเด่น” ต่อไป
กรมส่งเสริมการเกษตร