กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนระวังโรคกิ่งแห้ง เหตุเชื้อราในช่วงฝน

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เฝ้าระวังโรคกิ่งแห้งที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้มีความชื้นค่อนข้างสูง ประกอบกับในบางพื้นที่มีฝนตกชุก ทำให้สภาพดังกล่าวเหมาะต่อการระบาดของโรค ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ หากพบทุเรียนมีอาการกิ่งแห้ง บริเวณกิ่งมีเชื้อราสีขาวเจริญเป็นหย่อม ๆ ใบที่ติดปลายกิ่งมีสีเหลืองและหลุดร่วง ให้เร่งดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธีก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
ลักษณะอาการของโรคใบแห้งคือ ท่อลำเลียงน้ำและอาหารจะถูกทำลาย ทำให้น้ำจากบริเวณรากที่ถูกลำเลียงขึ้นมาไม่สามารถไปเลี้ยงกิ่งและใบได้ ทำให้ใบบิดเบี้ยวบริเวณปลายยอด และเมื่อสภาพอากาศร้อน ส่งผลให้เกิดลักษณะไหม้ที่บริเวณปลายหรือขอบใบ จากนั้นใบจะร่วง กิ่งแห้ง และลามมายังส่วนล่างของกิ่งไปติดลำต้น มีสปอร์สีขาวอมส้มเกาะตามกิ่ง หากอาการรุนแรง จะส่งผลให้ต้นทุเรียนโทรม หรือยอดแห้งตาย โดยโรคกิ่งแห้งสามารถพบโรคได้กับทุเรียนในทุกระยะการเจริญเติบโต ซึ่งเชื้อราชนิดนี้จะแฝงตัวอาศัยอยู่ในดินได้นานหลายปี รวมถึงสามารถเข้าทำลายพืชได้หลายชนิด และเข้าสู่ต้นพืชได้หลายทาง เช่น ราก กิ่งก้าน ใบ ปลายยอด ผล



วิธีการป้องกันกำจัดโรคใบแห้ง หมั่นสำรวจแปลงเพาะปลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกชุก โดยในทุเรียนให้บำรุงต้นตามระยะการเจริญเติบโตของทุเรียน ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ไม่ให้รกทึบ และกำจัดวัชพืชในสวนเพื่อลดความชื้น หากพบการระบาดเพียงเล็กน้อย ควรตัดส่วนที่เป็นโรคนำออกไปทำลายนอกสวน จากนั้นใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา เชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมรำละเอียด 4 กิโลกรัม และปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ 100 กิโลกรัม หว่านให้ทั่วในปริมาณ 50 – 100 กรัมต่อตารางเมตร หรือใช้เชื้อสด 1 กิโลกรัมผสมน้ำ 200 ลิตร แล้วพ่นทุก 3 เดือน นอกจากนั้น ให้ใช้เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทีลิส โดยนำเข็มฉีดยาดูดสารละลายของเชื้อ อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 มิลลิลิตร ฉีดเข้าในโคนต้นทุเรียน ต้นละ 3 จุด 1 ครั้ง แล้วลอกเปลือกต้นทุเรียนบริเวณที่เป็นโรคออก ทาด้วยผงเชื้อ อัตรา 1,000 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร โดยจะต้องผสมสารจับใบ อัตรา 5 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร และรดดินบริเวณโคนต้นด้วยผงเชื้อ อัตรา 200 กรัมต่อน้ำ 2 ลิตรต่อต้น โดยลอกเปลือกและรดดินซ้ำ รวม 4 ครั้ง รวมถึงควบคุมแมลงที่เจาะทำลายกิ่ง ก้าน หรือลำต้น ไม่ให้แพร่กระจายโรคกิ่งแห้งมากขึ้น แต่หากพบการระบาดรุนแรง ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช โดยใช้สารกลุ่ม 33 สารฟอสเอทธิล อะลูมินั่ม (fosetyl aluminium) 80% WP อัตรา 80 – 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร โดยถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก แล้วทาบริเวณแผล หรือใช้สารกลุ่ม 1A สารเมทาแลกซิล (metalaxyl) 25% WP อัตรา 50 – 60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ สารเมทาแลกซิล (metalaxyl) 25% WP + แมนโคเซบ (mancozeb) 65% WP อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือใช้สารกลุ่ม 11 สารอะซอกซี่สโตบิน ไทโอฟาเนท-เมทิล ใช้ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง ทั้งนี้ สามารถขอคำแนะนำในการป้องกันกำจัดเพิ่มเติมได้ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน


กรมส่งเสริมการเกษตร