ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่กว๊านพะเยา

192

กรมประมงจัด Kick Off “ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่กว๊านพะเยา” ประจำปี 2567 ส่งปลาไทยสู่กว๊านพะเยา จ.พะเยา และ จ.เชียงราย กว่า 20 ล้านตัว

วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 09.45 น. ณ กว๊านพะเยา หน้าโรงแรมภูกลอง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา นายบัญชา  สุขแก้ว  อธิบดีกรมประมง  ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงแหล่งน้ำสำคัญ “กว๊านพะเยา” จังหวัดพะเยา ประจำปีงบประมาณ 2567 (ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้าน)” พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมประมง ผู้นำชุมชน ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่ จำนวนกว่า 300 คน ร่วมปล่อยพันธุ์ลูกปลาตามโครงการประมงอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่กว๊านพะเยา ด้วยชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) จำนวน 10 ล้านตัว พร้อมมอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่ตัวแทนชุมชนและเกษตรกร รวม 12,085,000 ตัว ตลอดจนเยี่ยมชมนิทรรศการต่าง ๆ อาทิ ชุดเพาะฟักไข่ปลาเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) ตู้จัดแสดงชนิดพันธุ์ปลาที่เพาะได้ จากชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ เครื่องมือประมงพื้นบ้าน นิทรรศการภาพรวมการดำเนินโครงการ และชนิดพันธุ์ปลาในกว๊านพะเยา และเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ได้มีพิธีเปิดโครงการประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่กว๊านพะเยา ณ บ้านปากอิงใต้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยมีการปล่อยพันธุ์ลูกปลา จำนวน 10 ล้านตัว พร้อมมอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่ชุมชน จำนวน 18 ชุมชน เผยแผนปล่อยปลาในปี 2567 ทั้งในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงราย รวมทั้งสิ้น 40 ล้านตัว

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า…กรมประมงได้เห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างจำนวนประชากรสัตว์น้ำรุ่นใหม่ ภายใต้แนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรประมงด้วยการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม โดยได้ดำเนิน “กิจกรรมฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญ”ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดของไทย ด้วยชุดอุปกรณ์เพาะพันธุ์ปลาแบบเคลื่อนที่” (Mobile hatchery) และนำผลผลิตลูกปลาวัยอ่อนที่ได้ ปล่อยคืนสู่ต้นน้ำที่เคยเป็นแหล่งผสมพันธุ์วางไข่ โดยพื้นที่เป้าหมายที่เป็นแหล่งต้นน้ำ แม่น้ำสาขา และแหล่งน้ำชุมชนของกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา ประกอบด้วย กว๊านพะเยา หนองเล็งทราย แม่น้ำอิง แม่น้ำกก แม่น้ำงิม และลำน้ำสาขาต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ดำเนินโครงการในพื้นที่จังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 สามารถผลิตจำนวนประชากรปลาไทยปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้สูงถึง 125,360,000 ตัว นับเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และการบริหารจัดการทรัพยากรประมงร่วมกับชุมชนสร้างความมั่นคงของแหล่งอาหารโปรตีนชุมชน สร้างแหล่งอาชีพ และสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรชาวประมงจากการทำประมงในพื้นที่เป้าหมาย สอดคล้องกับนโยบาย ร้อยเอก ธรรมนัส  พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อความอยู่ดีมีสุข ของประชาชนในพื้นที่ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน

โดยในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 นี้ นายบัญชา  สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่กว๊านพะเยา” ณ หน้าโรงแรมภูกลอง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมประมง ผู้นำชุมชน ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่ จำนวนกว่า 300 คน ร่วมปล่อยพันธุ์ลูกปลาตามโครงการประมงอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่กว๊านพะเยา ด้วยชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) จำนวน 10 ล้านตัว พร้อมมอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่ตัวแทนชุมชน อำเภอ และเกษตรกร รวมทั้งสิ้น 12,085,000 ตัว ดังนี้

1. มอบพันธุ์ปลาที่เพาะจากแม่น้ำโขงให้แก่ชุมชนรอบกว๊านพะเยา จำนวน 10 ชุมชน จำนวน 10,000,000 ตัว

2. มอบพันธุ์ปลายี่สกเทศและพันธุ์กุ้งก้ามกรามให้แก่ตัวแทนอำเภอและเกษตรกร ภายใต้โครงการพะเยาโมเดลรวม 2,085,000 ตัว ได้แก่ มอบพันธุ์ปลายี่สกเทศให้แก่เกษตรกร จำนวน 85 ราย จำนวน 85,000 ตัว และมอบพันธุ์  กุ้งก้ามกรามให้แก่ชุมชนรอบหนองเล็งทราย จำนวน 6 ชุมชน จำนวน 2,000,000 ตัว

ตลอดจนเยี่ยมชมนิทรรศการต่าง ๆ อาทิ ชุดเพาะฟักไข่ปลาเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) ตู้จัดแสดงชนิดพันธุ์ปลา ได้แก่ ปลาบึก ปลายี่สกเทศ กุ้งก้ามกราม และลูกปลาตุ้ม (ปลาอายุ 2 วัน) ที่เพาะได้จากชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ เครื่องมือประมงพื้นบ้าน นิทรรศการภาพรวมการดำเนินโครงการ และชนิดพันธุ์ปลาในกว๊านพะเยา เป็นต้น และเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ได้มีพิธีเปิดโครงการประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่กว๊านพะเยา ณ บ้านปากอิงใต้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยมีการปล่อยพันธุ์ลูกปลา จำนวน 10 ล้านตัว พร้อมมอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่ชุมชน จำนวน 18 ชุมชน

สำหรับปี 2567 นี้ กรมประมง มีแผนปล่อยปลา “ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่กว๊านพะเยา” ภายใต้โครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญ ในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดพะเยา จำนวน 20,000,000 ตัว และจังหวัดเชียงราย จำนวน 20,000,000 ตัว รวมทั้งสิ้น 40,000,000 ตัว โดยกำหนดชนิดพันธุ์ปลาน้ำจืดของไทย ที่ได้เพาะขยายพันธุ์และปล่อยลงแหล่งน้ำ จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มปลากินพืช และกลุ่มปลาหนัง ดังนี้

1. พื้นที่จังหวัดพะเยา : กลุ่มปลากินพืช ได้แก่ ปลาตะเพียนขาว และปลากาดำ 2. พื้นที่จังหวัดเชียงราย : กลุ่มปลากินพืช ได้แก่ ปลาตะเพียนขาว ปลากระแห ปลาสร้อยขาว ปลากาดำ และกลุ่มปลาหนัง คือ ปลาเทพา

อธิบดีกรมประมงกล่าวทิ้งท้ายว่า…กรมประมงได้ร่วมกับชุมชนประมงอนุรักษ์ในพื้นที่ในการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาไข่แก่และน้ำเชื้อสมบูรณ์ ฉีดฮอร์โมนผสมเทียม รีดไข่ เพาะฟัก และนำลูกปลาระยะแรกฟัก (อายุ 2 วัน) ปล่อยลงในพื้นที่เป้าหมายที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย อีกทั้งยังได้สนับสนุนการสร้างแหล่งอาหารสำรองเพื่อรองรับจำนวนลูกปลาที่จะนำมาปล่อย เป็นการเพิ่มอัตราการรอดและการเติบโตของลูกปลาจำนวนมากหลังจากนำไปปล่อย ในพื้นที่แหล่งต้นน้ำ โดยจะมีการประเมินความชุกชุมการแพร่กระจาย และการเติบโตของพันธุ์ที่นำมาปล่อย นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้เรียนรู้ในทุกกระบวนการขั้นตอน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอีกด้วย

กรมประมง