เกษตรฯ แนะเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยน้ำว้า

95

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยน้ำว้า ปรับตัวรับความเสี่ยง จากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ศึกษา วางแผนการลงทุน ให้สอดรับกับสภาวะการตลาด

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กล้วยน้ำว้าเป็นพืชเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญคู่กับสังคมไทย มายาวนาน เนื่องด้วยกล้วยน้ำว้าเป็นพืชที่ปลูกกันเกือบทุกบ้านและที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นกล้วยที่ชาวสวนนิยมปลูกกันมากพบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งมีทั้งการปลูกในรูปแบบแปลง เพื่อจำหน่ายเป็นการค้าและปลูกตามหัวไร่ปลายนา โดยมีเกษตรกรที่ปลูกกล้วยน้ำว้ามาขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรทั่วประเทศ จำนวน 43,878 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 109,086.46 ไร่ (ข้อมูล ทบก. ปี 2566 ณ วันที่ 19 ส.ค. 67)

นายพีรพันธ์ คอทอง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมเมืองที่ขยายตัว ทำให้วิถีการปลูกกล้วยน้ำว้าไว้บริเวณบ้านเปลี่ยนไป ในขณะที่ช่องทางตลาดเพื่อเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคมีความสะดวกและเข้าถึงง่าย ส่งผลให้เกิดการปลูกกล้วยเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น พร้อมกับการปลูกกล้วยเพื่อบริโภคในครัวเรือนลดน้อยลง กล้วยน้ำว้าจึงกลายเป็นสินค้าที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคเขตเมือง และเขตชนบท (Urban – Rural Consumers Behavior) อย่างไรก็ตามการปลูกกล้วยน้ำว้าของเกษตรกรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในเขตเมืองยังมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ด้วยข้อจำกัดและความท้าทายด้วยการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนน้อย โดยเปรียบเทียบจากข้อมูลการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของการปลูกกล้วยน้ำว้า ในเขตอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี พบว่า เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกกล้วยน้ำว้า 25,728 บาท/ไร่/ปี มีต้นทุนการผลิตกล้วยน้ำว้า 20,184 บาท/ไร่/ปี รายได้สุทธิ 5,544 บาท/ไร่/ปี ซึ่งเมื่อจะพิจารณาข้อมูลด้วยหน่วยเป็นหวีและคิดจากระบบสารสนเทศการผลิตทางด้านการเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่าผลผลิตเฉลี่ยกล้วยน้ำว้าปี 2566 อยู่ที่ 3,145 กิโลกรัม/ไร่ หรือ 2,097 หวี/ไร่ ต้นทุนการผลิต 9.60 บาท/หวี โดยเกษตรกรมีรายได้สุทธิต่อหวีอยู่ที่ 2.64 บาท เท่านั้น ทั้งนี้ แม้ว่าในบางช่วงของปีจะมีผลผลิตออกน้อย ด้วยปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิสูงขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและในบางช่วงของฤดูกาลจะมีผลผลิตออกมากขึ้นจนเกินความต้องการของตลาดก็ตาม เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยน้ำว้าจึงต้องแบกรับภาระ และกระจายความเสี่ยงนำกล้วยน้ำว้าไปแปรรูปสร้างมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตามสภาวะการตลาดที่เปลี่ยนแปลง

ข้อมูลจากการวิเคราะห์ราคากล้วยน้ำว้าเบอร์กลางที่ตลาดไท พบว่า ราคากล้วยน้ำว้าสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นมา ซึ่งปกติอายุของผลกล้วยตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 – 4 เดือน กล้วยน้ำว้าจึงอาจออกดอกติดผลในช่วงแล้งและร้อนจัดที่ผ่านมา (เดือนมีนาคม – เมษายน 2567) สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาที่สูงขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 ทำให้ผลผลิตกล้วยน้ำว้ามีน้อย ราคาสูง ผลขนาดเล็ก และมีคุณภาพไม่ตรงตามที่ผู้รับซื้อต้องการ ซึ่งแนวโน้มสถานการณ์ราคากล้วยน้ำว้าน่าจะสูงอย่างต่อเนื่อง หรืออาจจะลดลงเล็กน้อยจนถึงปลายปี 2567 เนื่องจากต้นกล้วยบางส่วนเสียหายจากภัยแล้ง และบางส่วนที่ถูกโรคและแมลงเข้าทำลายภายหลังเกิดภัยแล้ง แต่อย่างไรก็ตาม ต้นกล้วยที่รอดผ่านภัยแล้งมาได้น่าจะให้ผลผลิตได้ตามปกติในช่วงปลายปี 2567 หรืออย่างช้าต้นปี 2568 เป็นต้นไป สอดคล้องกับข้อมูลราคาเฉลี่ยสินค้าเกษตรกล้วยน้ำว้าของกระทรวงพาณิชย์ ย้อนหลัง 5 ปี (ปี 2563 – 2567) ที่พบว่า ราคากล้วยน้ำว้าจะสูงในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี และจะลดลงในช่วงปลายปีจนราคาตกต่ำในช่วงแล้งปีถัดไป

“จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก หรือ ภาวะโลกเดือด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชสินค้าเกษตร ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เกษตรกรที่ปลูกพืชและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานจะต้องมีความยืดหยุ่นในการดำเนินกิจกรรมการผลิตและการบริโภคเพื่อเผชิญต่อความแปรปรวนไม่แน่นอน ในขณะเดียวกันต้องพยายามให้มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการร่วมมือกันเพื่อปรับตัวและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด และรับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อน โลกเดือดร่วมกัน ดังนั้น จากสภาวะความแปรปรวนทั้งด้านภูมิอากาศและราคาสินค้าเกษตรดังกล่าว การเลือกและตัดสินใจของเกษตรกรที่จะลงทุนปลูกกล้วยน้ำว้า เกษตรกรต้องพิจารณาถึงระดับความสามารถในการลงทุนและอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน รวมทั้งมีความสามารถในการบริหารกระแสเงินสดรายเดือนอีกด้วย เนื่องจากการลงทุนปลูกกล้วยน้ำว้า มีจุดคุ้มทุนค่อนข้างยาว ประมาณ 5 – 6 ปี   ซึ่งแม้ว่ากล้วยน้ำว้าจะเป็นพืชที่ปลูกง่าย และมีความต้องการของตลาดโดยเฉพาะตลาดผู้บริโภค Plant Base Food อีกทั้งมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย  เช่น กล้วยตากแห้งทั้งลูก กล้วยแบบอบแห้ง แบบแช่เยือกแข็งแห้ง (freeze dry) แบบผง ดังนั้น เกษตรกรควรศึกษาและวางแผนการลงทุน แผนการผลิต แผนการเงิน แผนการตลาด อย่างรอบคอบ รวมถึงการปลูกกล้วยน้ำว้าให้เป็นพืชพี่เลี้ยงหรือพืชร่วมเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ทั้งนี้ “กล้วย” นับว่าเป็นพืชที่ทนต่อโรค แมลงศัตรูพืชได้ระดับหนึ่งปลูกได้เกือบทุกสภาพดินฟ้าอากาศ แต่ก็มีโรคและแมลงที่สามารถทำให้กล้วยเกิดความเสียหายได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคใบจุดซิกาโตกา หนอนม้วนใบ ด้วงงวง และโรคที่พบบ่อยและเป็นโรคที่มีความสำคัญก็คือ โรคตายพรายหรือโรคเหี่ยว (ใบไหม้จากขอบ และต้น หรือก้านใบหักพับ กลางลำ) ล้วนแล้วแต่ทำให้กล้วยที่ปลูกไว้ไม่โต และผลไม่สวย หากเกษตรกรพบอาการของกล้วยเป็น “โรคตายพราย” ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา จะเข้าทำลายรากและเจริญเข้าไปในท่อน้ำ ท่ออาหาร ทำให้อุดตัน ใบขาดน้ำ เหี่ยวเฉาและหักพับ ส่งผลให้ชะงักการเจริญเติบโตและตายในที่สุด เกษตรกรควรจัดการโดยใช้วิธีผสมผสาน (IPM) ได้แก่ การใช้ท่อนพันธุ์สะอาด มีการแช่หน่อกล้วยก่อนปลูก แปลงต้องมีการระบายน้ำ ที่ดีไม่ให้มีน้ำท่วมขัง รองก้นหลุมด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา ทำความสะอาดแปลงด้วยการกำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ยที่มีแร่ธาตุฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมสูง และไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนมาก ที่สำคัญเกษตรกรต้องหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบกล้วยที่แสดงอาการของโรคตายพราย ให้ขุดออกไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วโรยก้นหลุมด้วยปูนขาว สำหรับแมลงศัตรูพืชที่พบ เช่น หนอนม้วนใบและด้วงงวง เกษตรกรต้องหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอหากพบเจอหนอนม้วนใบให้เก็บหนอนทำลายนอกแปลง แต่ถ้าพบด้วงงวงต้องทำความสะอาดแปลงโดยกำจัดวัชพืชรอบแปลง  สำหรับในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตอาจพบการทำลายของเพลี้ยบ้างแต่ไม่ส่งผลให้เกิดความเสียหาย ในทางการค้าสามารถใช้เครื่องเป่าลม หรือฉีดน้ำทำความสะอาดก็ไม่ส่งผลกระทบกับคุณภาพผลผลิตโดยรวม สามารถขอรับคำแนะนำการป้องกันกำจัดได้ฟรี ที่คลินิกพืชของสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด รวมถึงศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชใกล้บ้าน

กรมส่งเสริมการเกษตร