ตลาดแพะเนื้อเริ่มขยับ หลังโควิด-19 คลี่คลาย

3,794

ตลาดแพะเนื้อเริ่มขยับตัว หลังโควิด-19 คลี่คลาย คาดราคาซื้อขายมีทิศทางดีขึ้น

นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยถึงสถานการณ์ การผลิตแพะเนื้อภาคตะวันตก ปี 2563 ในเขตพื้นที่ 7 จังหวัด (กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์) ซึ่งพบว่า ภาคตะวันตกเป็นแหล่งผลิตแพะเนื้อที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม อากาศโปร่ง ความชื้นต่ำ และเป็นสินค้าทางเลือกสำคัญที่มีอนาคตในภูมิภาค ปัจจุบันมีการเลี้ยงแพะเนื้อ (ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์) จำนวน 148,528 ตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวน 134,811 ตัว (เพิ่มขึ้น 13,717 ตัว หรือร้อยละ 10)  ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย ส่งออกมากถึงร้อยละ 85 ส่วนร้อยละ 10 ส่งออกประเทศเวียดนาม และอีกร้อยละ 5 จำหน่ายภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่การบริโภคเนื้อแพะนิยมในกลุ่มชาวมุสลิม ทำให้ตลาดมาเลเซียมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง เพราะการเลี้ยงแพะเนื้อในประเทศมาเลเซียทำได้ยาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศค่อนข้างชื้น ส่งผลให้แพะสุขภาพไม่แข็งแรง เป็นโรคง่าย และโตช้า ผลผลิตจึงไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

จากการติดตามของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) พบว่า พื้นที่การเลี้ยงส่วนใหญ่ อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี เกษตรกรนิยมเลี้ยงพันธุ์ลูกผสมบอร์ ซึ่งจะใช้พ่อพันธุ์ที่มีสายเลือดแท้ผสมกับแม่พันธุ์พื้นเมือง หรือแม่พันธุ์ที่มีสายเลือดบอร์ต่ำ ลักษณะเด่นของแพะพันธุ์บอร์ คือส่วนหัวจนถึงคอมีสีน้ำตาลส่วนลำตัวมีสีขาว เป็นพันธุ์ที่โตเร็ว และเป็นที่ต้องการของตลาด การเลี้ยงแพะเนื้อมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,119 บาท/ตัว แยกเป็นค่าพันธุ์สัตว์ 1,950 บาท ค่าแรงงาน 540 บาท และส่วนที่เหลือ 629 บาท เป็นค่าอาหาร ยาป้องกันโรค และ ค่าเสื่อมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่าง ๆ  สำหรับราคาขายเกษตรกรสามารถจำหน่ายแพะเนื้อ (อายุเฉลี่ย 6-7 เดือน น้ำหนักประมาณ 30-35 กก./ตัว) ในราคาเฉลี่ย 3,825 บาท/ตัว (127 บาท/นน.ตัว 1 กก.) ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 706 บาท/ตัว

ด้านนางจินตนา ปัญจะ ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าวเพิ่มเติมว่า การเลี้ยงแพะเนื้อจะใช้พื้นที่ไม่มากนัก สามารถกินอาหารได้หลากหลาย เช่น อาหารหยาบ ได้แก่ ฟางข้าว หญ้าสด ใบกระถิน และลำต้นข้าวโพดฝักอ่อน ส่วนอาหารข้น ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป รำข้าว กาก และเปลือกมันสำปะหลัง โดยแพะเนื้อต้องการอาหารวันละ 1-2 กก./วัน อีกทั้ง  ยังทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้แพะเนื้อเจริญเติบโต และสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถส่งจำหน่ายแพะเนื้อได้ เนื่องจากประเทศมาเลเซียปิดด่านพรมแดน และระบบขนส่งภายในประเทศมีความยากลำบาก ทำให้ราคาในช่วงนี้ลดลงอยู่ที่ 100 บาท/กก. เฉลี่ย 3,000 บาท/ตัว หากสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายและมีการเปิดด่านพรมแดน สามารถส่งออกได้ตามปกติ คาดว่าราคาซื้อขายแพะเนื้อจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตแพะเนื้อในพื้นที่ภาคตะวันตก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี โทร. 032 337 954 หรืออีเมล [email protected]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข่าว