กวก. ซุ่มวิจัยฟ้าทะลายโจรพันธุ์ใหม่ “กวก. พิจิตร 1”

100

กรมวิชาการเกษตร ซุ่มวิจัยฟ้าทะลายโจรพันธุ์ใหม่ “กวก. พิจิตร 1” ทึ่ง ! ให้ผลผลิตทั้งสดและแห้งสูงกว่าพันธุ์การค้าปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ชนะเลิศ

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกฟ้าทะลายโจรที่สำคัญอยู่ในจังหวัดพะเยา ปราจีนบุรี สงขลา กาญจนบุรี สุโขทัย นครปฐม มุกดาหาร ชุมพร อุบลราชธานี และนครสวรรค์ ในปี 2566 มีเนื้อที่เก็บเกี่ยวผลผลิต 1,136 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 502 กิโลกรัมต่อไร่  มีราคาขายเฉลี่ย 105 บาทต่อกิโลกรัม  ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชสมุนไพรที่มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ซึ่งเป็นสารสำคัญมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์ไวรัสโควิด 19 ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมยามีความต้องการปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ในวัตถุดิบฟ้าทะลายโจรไม่น้อยกว่า 1 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม  ดังนั้นศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร  จึงได้ปรับปรุงพันธุ์ฟ้าทะลายโจรเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง รวมทั้งมีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ตามมาตรฐานสมุนไพร

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

นางสาวเกษร แช่มชื่น  นักวิชาการเกษตรชำนาญการ  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร  กล่าวว่า ปี 2547 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร  กรมวิชาการเกษตร ได้รวบรวมเมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจร   จากแหล่งปลูกที่สำคัญของประเทศไทยรวม 9 พันธุ์  จากนั้นปลูกคัดเลือกพันธุ์ละ 120 ต้น  รวมจำนวน 1,080 ต้น คัดเลือกต้นตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยแต่ละพันธุ์คัดเลือกไว้ 5 สายต้น  ปี 2548 ปลูกสายพันธุ์ที่คัดเลือกเป็นแถว ๆ ละ 10 ต้น คัดเลือกไว้ 2 ต้น  แล้วนำไปวิเคราะห์ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์   คัดเลือกต้นที่มีปริมาณแอนโดร กราโฟไลด์มากกว่า 1.5 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม ได้ 18 สายพันธุ์ ปี 2549-2551 ปลูกคัดเลือกฟ้าทะลายโจร 3 ครั้ง  พิจารณาความสม่ำเสมอของลักษณะทางการเกษตรคงเหลือ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ PCT4-4 สายพันธุ์ PLK5-4  และสายพันธุ์ CMI4-4

ปี 2552-2553 ปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ฟ้าทะลายโจรเปรียบเทียบกับพันธุ์ราชบุรี (การค้า) 2 ฤดู ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร คัดเลือกไว้ 2 สายพันธุ์  ได้แก่ สายพันธุ์ PCT4-4 และสายพันธุ์ PLK5-4  จากนั้น ในปี 2564 นำทั้งสองสายพันธุ์ไปปลูกทดสอบพันธุ์ร่วมกับพันธุ์นครปฐมและปราจีนบุรี (การค้า) ดำเนินการ 3 แห่ง จนพบว่า ฟ้าทะลายโจรสายพันธุ์ PCT4-4  มีการเจริญเติบโต  ผลผลิต และปริมาณแอนโดร กราโฟไลด์ทั้ง 3 สถานที่ดีกว่าพันธุ์นครปฐมและพันธุ์ปราจีนบุรีซึ่งเป็นพันธุ์การค้า   ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรจึงเสนอขอรับรองสายพันธุ์ PCT4-4  เป็นพันธุ์แนะนำ  โดยผ่านการพิจารณารับรองพันธุ์ในปี 2567 ใช้ชื่อพันธุ์ว่าฟ้าทะลายโจรพันธุ์ กวก. พิจิตร 1”

ฟ้าทะลายโจรพันธุ์ กวก. พิจิตร 1” มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตสดเฉลี่ย 2,073 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์นครปฐมซึ่งให้ผลผลิตสด1,620 กิโลกรัมต่อไร่ (สูงกว่า 28 เปอร์เซ็นต์) และสูงกว่าพันธุ์ปราจีนบุรีซึ่งให้ผลผลิตสด 1,454 กิโลกรัมต่อไร่ (สูงกว่า 43 เปอร์เซ็นต์)  และให้ผลผลิตแห้งเฉลี่ย 666 กิโลกรัมต่อไร่  สูงกว่าพันธุ์นครปฐมซึ่งให้ผลผลิตแห้ง 522 กิโลกรัมต่อไร่ (สูงกว่า28 เปอร์เซ็นต์) และสูงกว่าและพันธุ์ปราจีนบุรี ซึ่งให้ผลผลิตแห้ง 438  กิโลกรัมต่อไร่ (สูงกว่า 52 เปอร์เซ็นต์)  ที่สำคัญฟ้าทะลายโจรพันธุ์ กวก. พิจิตร 1 ยังมีคุณสมบัติทางเคมีที่ให้ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์สูงถึง 4.38  กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม สูงกว่าพันธุ์นครปฐมที่ให้ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 3.21 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม  และพันธุ์ปราจีนบุรีที่ให้ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 3.39 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม  สำหรับความพร้อมของพันธุ์ในปี 2567 มีเมล็ดพันธุ์ขยาย 1 กิโลกรัม สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ 50 ไร่ ซึ่งสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ประมาณ 1,250 กิโลกรัม เกษตรกรและผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดฟ้าทะลายโจรพันธุ์ กวก. พิจิตร 1” เพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร โทรศัพท์ 09 5341 1179” นางสาวเกษร  กล่าว