คืบหน้า 90% ขยายพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด

174

หน้า 90% ขยายพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด พร้อมส่งมอบเกษตรกร

กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยความคืบหน้าผลการขยายพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดด้วยวิธีแบบเร่งรัด X20 และ X80 ได้เกิน 230,000 ต้น คิดเป็น 90% จากเป้า 240,000 ต้น วางแผนไม่เกินปลายปีนี้ เกษตรกรจะมีท่อนพันธุ์ พร้อมเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ทันใช้ในฤดูกาลผลิต ปี 2567/2568 แน่นอน

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง เกิดขึ้นจากที่แมลงหวี่ขาวยาสูบ ที่เป็นพาหะนำโรคดูดกินน้ำเลี้ยงต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค และนำพาไปติดต้นมันสำปะหลังปกติ และการที่เกษตรกรนำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เป็นโรคมาปลูกในแปลง รวมทั้งนำต้นที่เป็นโรคเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ เกิดการกระจายลามไปยังพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังขนาดใหญ่ของประเทศ เพื่อลดการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีในการขับเคลื่อนแก้ไขผลกระทบของเกษตรกรจากโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยนำพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคใบด่างระดับสูง จากมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (TTDI) ได้แก่ พันธุ์อิทธิ 1 พันธุ์อิทธิ 2 และพันธุ์อิทธิ 3 มาขยายพันธุ์ด้วยวิธีแบบเร่งรัด X20 และ X80 โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ทั้ง 8 ศูนย์ คือ จังหวัดชลบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์  พิษณุโลก มหาสารคาม ลำพูน สุพรรณบุรี และจังหวัดอุดรธานี ภายใต้การกำกับของกองขยายพันธุ์พืช และเมื่อต้นพันธุ์อยู่ในระยะต้นกล้า จะนำมาอนุบาลในโรงเรือน ก่อนนำไปปลูกลงในแปลงปลูก และส่งต้นพันธุ์ให้แก่เกษตรกรนำไปขยายพันธุ์ต่อไปตามลำดับ ซึ่งการขยายพันธุ์มันสำปะหลังด้วยวิธีแบบเร่งรัด X20 และ X80 จะทำให้ได้ปริมาณมากถึง 20 – 80 เท่า ซึ่งมากกว่าวิธีที่เกษตรกรนิยมในปัจจุบันที่ขยายพันธุ์ได้เพียง 4 เท่า

ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรได้ขยายพันธุ์มันสำปะหลัง ทั้ง 3 สายพันธุ์ ไว้รองรับความต้องการของเกษตรกรแล้ว เมื่อเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตรจะจัดสรรลงตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้มีแปลงต้นแบบผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ดีหมุนเวียนใช้เองภายในชุมชน ผ่านธนาคารท่อนพันธุ์ชุมชน ในรอบฤดูกาลเพาะปลูกใหม่เกษตรกรในชุมชนจะมีท่อนพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ดี ลดการปนเปื้อนจากโรคใบด่างมันสำปะหลัง แมลงศัตรูพืชจากภายนอกชุมชน ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถเลือกรับสายพันธุ์ตามความต้องการและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกรได้ โดยในส่วนคุณสมบัติแต่ละสายพันธุ์ กองขยายพันธุ์พืชได้นำทั้ง 3 พันธุ์ไปวิเคราะห์ซ้ำอีกครั้งก่อนนำไปผลิตขยายพันธุ์ ดังนั้นเกษตรกรสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดอย่างแน่นอน

จากข้อมูลของ TTDI แสดงผลลัพธ์ถึงคุณสมบัติ ลักษณะเด่นของมันสำปะหลังทั้ง 3 พันธุ์ คือ พันธุ์อิทธิ 1 ผลผลิตหัวสดเฉลี่ย 3.7 ตัน/ไร่ ปริมาณแป้งในหัว 23.7 % ต้านทานต่อโรคใบด่าง 0 – 4.6% สำหรับพันธุ์อิทธิ 2 ผลผลิตหัวสดเฉลี่ย 3.9 ตัน/ไร่ ปริมาณแป้งในหัว 16.8 % ต้านทานต่อโรคใบด่าง 0% และพันธุ์อิทธิ 3 ผลผลิตหัวสดเฉลี่ย 2.6 ตัน/ไร่ ปริมาณแป้งในหัว 19.2 % ต้านทานต่อโรคใบด่าง 0.5 – 4.9%  ทั้ง 3 สายพันธุ์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่เกษตรกรที่สนใจได้นำไปเพาะปลูกเพื่อต้านทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้การใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง จากแหล่งพันธุ์ที่ได้รับการรับรอง ไม่ใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่ไม่ผ่านการรับรอง หรือจากแหล่งปลูกที่พบการระบาดของโรค ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผลิตทั้งต่อตัวเกษตรกรเอง และแปลงข้างเคียง ที่สำคัญเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกอยู่เสมอ เพื่อเฝ้าระวังปัญหาต่าง ๆ จะได้แก้ไขได้ทันเวลา ลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

กรมส่งเสริมการเกษตร