กสก. ชูผลสำเร็จโครงการ Agri – Map

119

กรมส่งเสริมการเกษตร ชูผลสำเร็จโครงการ Agri – Map ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกรได้จริงหลายเท่าตัว จากการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากปัญหาที่เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตที่ได้ไม่ค่อยมีคุณภาพ รวมทั้งสินค้าเกษตรบางชนิดอาจจะมีปริมาณมากเกินความต้องการของตลาด ในขณะที่ได้ผลตอบแทนต่ำ สาเหตุหนึ่งเกิดจากการที่เกษตรกรปลูกพืชในพื้นที่เหมาะสมน้อยหรือไม่เหมาะสม จึงทำให้ต้องใช้ปัจจัยการผลิตในปริมาณมากกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และทางสังคม กรมส่งเสริมการเกษตรจึงดำเนินโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) ขึ้น มุ่งเน้นการพัฒนาเกษตรกรให้มีองค์ความรู้ด้านการเกษตร เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ รู้จักวางแผนการผลิต และเลือกผลิตสินค้าเกษตรได้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ และปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมถึงสามารถเพิ่มรายได้และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร หลังจากการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชได้

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอได้คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายเข้าร่วมโครงการฯ โดยใช้ข้อมูลจากระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri – Map online) แผนการจัดการพื้นที่การผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญที่จังหวัด/ อำเภอจัดทำไว้ ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) และแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจระดับภาค รวมถึงใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ในการพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น สภาพแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ การเพาะปลูก การตลาด ความรู้/ทักษะทางการเงินของเกษตรกร สภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ ฯลฯ แล้วนำมาเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์หาความเหมาะสมของพื้นที่ในการปลูกพืชแต่ละชนิดและรับสมัครเกษตรกรที่สนใจ ปรับเปลี่ยนชนิดพืชทางเลือกใหม่ทดแทนพืชเดิมที่ไม่เหมาะสม เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้วเกษตรกรจะเข้ารับการอบรมให้ความรู้ และจัดการศึกษาดูงานการปลูกพืชทางเลือกใหม่ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความรู้ทางวิชาการเกษตรแก่เกษตรกร จัดกระบวนการเรียนรู้การผลิตพืชเศรษฐกิจระดับอำเภอตามเขตความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น ดูงานที่แปลงของเกษตรกรต้นแบบ ดูงานการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต และการจัดทำไร่นาสวนผสม มาตรฐานสินค้าเกษตร การบริหารจัดการและการวางแผนการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เป็นต้น หลังจากนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรกรจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในเบื้องต้นสำหรับการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชชนิดใหม่ให้กับเกษตรกรในเขตพื้นที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่ Agri – Map

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า หลังจากที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชแล้ว ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชได้เหมาะสมต่อศักยภาพพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ตัวอย่างเช่น

นางสาวสมเกียรติ์ ลานอก เกษตรกรผู้ปลูกข้าว บ้านหัวสะพาน หมู่ที่ 6 ตำบลวังตะเฆ่ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ประสบปัญหาคือ พื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสำหรับการปลูกข้าว อีกทั้งการปลูกข้าวมีความเสี่ยงด้านรายได้ที่ไม่แน่นอน ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่เนื่องจากพื้นที่มีแหล่งน้ำเพียงพอ จึงมีแนวทางที่จะปลูกพืชที่สร้างรายได้ให้ครอบครัวตลอดทั้งปี เข้าร่วมโครงการฯ โดยทดลองเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวรวม 37 ไร่ มาปลูกผักชีทดแทนจำนวน 2 ไร่ พบว่า การปลูกผักชีสามารถสร้างรายได้ต่อไร่สูงกว่าการปลูกข้าวหลายเท่า โดยปลูกข้าว มีต้นทุนรวมต่อไร่ 3,700 บาท ผลผลิตต่อไร่ 400 กิโลกรัม ราคา 10 บาทต่อกิโลกรัม ปลูกปีละ 1 ครั้ง รายได้รวมสุทธิต่อไร่ต่อปี 300 บาท ในขณะที่ปลูกผักชี มีต้นทุนรวมต่อไร่ 4,710 บาท ผลผลิตต่อไร่ 1,000 กิโลกรัม ราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม ปลูกปีละ 3 ครั้ง รายได้รวมสุทธิต่อไร่ต่อปีมากถึง 225,870 บาท

นางไพรวัน กลางโชคชัย เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง หมู่ 10 ตำบลหนองหัวช้าง อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ ประสบปัญหาคือ ที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมปลูกมันสำปะหลัง ราคาผลผลิตต่ำ ใช้แรงงานมาก จึงเข้าร่วมโครงการฯ โดยการปลูกกล้วยหอมทองแทนมันสำปะหลัง จำนวน 3 ไร่ จากทั้งหมด 7 ไร่ พบว่า การปลูกกล้วยหอมทองสามารถสร้างรายได้ต่อไร่สูงกว่าการปลูกมันสำปะหลังถึง 20 เท่า โดยปลูกมันสำปะหลังมีต้นทุนรวมต่อไร่ 5,350 บาท ผลผลิตต่อไร่ 3,500 กิโลกรัม ราคา 2.5 บาทต่อกิโลกรัม ปลูกปีละ 1 ครั้ง รายได้รวมสุทธิต่อไร่ต่อปี 3,300 บาท ในขณะที่ปลูกกล้วยหอมทอง มีต้นทุนรวมต่อไร่ 26,700บาท ผลผลิตต่อไร่ 4,000 กิโลกรัม ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม ปลูกปีละ 2 ครั้ง รายได้รวมสุทธิต่อไร่ต่อปี 66,600 บาท นับว่าเป็นรายได้ที่น่าพอใจมากกว่าการปลูกมันสำปะหลัง

“จากตัวอย่างเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้วปรับเปลี่ยนการปลูกพืชตามแผนที่เกษตรหรือ Agri – Map และได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ จะได้เห็นได้ว่า เกษตรกรรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าเมื่อเทียบกับก่อนเข้าร่วมโครงการฯ แม้ว่าจะไม่ต้องทำการเพาะปลูกเต็มพื้นที่ก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีแนวทางที่จะดำเนินการขยายผลโครงการนี้ไปสู่พื้นที่อื่น เพื่อทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นจากการลดการใช้ปัจจัยการผลิตอีกด้วย” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย

กรมส่งเสริมการเกษตร