เกษตรเขต 5 สงขลา ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งมอบเครื่องย่อยทางปาล์มนำร่องภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างเยอรมัน – ไทย
นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินงานโครงการความร่วมมือระหว่างเยอรมัน – ไทย เพื่อส่งเสริมระบบและการบริหารจัดการด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน ผ่านเครือข่ายนวัตกรรม ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงอาหารและเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินงานโครงการความร่วมมือระหว่างเยอรมัน-ไทยฯ ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 โดยโครงการระยะที่ 1 ระยะเวลาโครงการ 3 ปี ระหว่างปี 2563 – 2566 ได้มีการคัดเลือกพื้นที่ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อเป็นพื้นที่แปลงใหญ่นำร่องในโครงการ รวม 8 แห่ง ครอบคลุมสินค้าพืชสวนและพืชไร่ 4 ชนิดสินค้า ได้แก่ พืชผัก ไม้ดอก อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี ชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา ในส่วนของของภาคใต้ ได้เข้าร่วมโครงการระยะที่ 2 เริ่มดำเนินการ ปี 2567 เป็นปีแรกระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2567 – 2570 ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ชนิดสินค้าปาล์มน้ำมัน และจังหวัดชุมพร ชนิดสินค้าทุเรียน
ชนิดสินค้าปาล์มน้ำมัน ของจังหวัดพัทลุง ดำเนินการเรื่องการใช้วัสดุเหลือใช้จากแปลงปาล์มน้ำมัน ได้นำร่องโครงการที่กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 38 ราย มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันรวม 451.75 ไร่ ได้ดำเนินจัดประชุมทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ หน่วยงานในพื้นที่และกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน จัดเก็บข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน เพื่อวางแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนงานร่วมกันกับหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางการพัฒนากลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ได้ข้อสรุปถึงความต้องการใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ในการช่วยย่อยทางปาล์มน้ำมันเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ จึงได้ให้การสนับสนุนเครื่องย่อยทางปาล์มที่ใช้เทคโนโลยีเยอรมัน มานำร่องให้กับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน เป็นการใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้จากแปลงปาล์มน้ำมัน ได้แก่ ทางปาล์มน้ำมัน นำมาทำเป็นปุ๋ยหมักสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เป็นการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรปาล์มน้ำมัน โดยหากนำทางปาล์มน้ำมันที่มีน้ำหนักทางละ 20 กิโลกรัม มาย่อยจำนวน 18 ทางปาล์มต่อต้น จะได้ทางปาล์มที่ย่อยแล้วพร้อมไปทำเป็นปุ๋ย จำนวน 360 กิโลกรัมต่อต้น หรือเป็นจำนวน 7,920 กิโลกรัม/ไร่ หากดำเนินการในกลุ่มสมาชิกทั้งกลุ่ม จะได้ทางปาล์มที่ย่อยพร้อมไปทำเป็นปุ๋ยหมัก จำนวน 3,578 ตัน ทั้งนี้โครงการจะได้มีการขยายผลในกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายปาล์มน้ำมันกลุ่มอื่นๆ ต่อไป
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานในการส่งมอบเครื่องย่อยทางปาล์มนำ ให้กับกษตรกรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยมีนายสมเกียรติ ทองพันธ์ ประธานแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน และสมาชิกเป็นผู้รับมอบ ทั้งนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง นำโดยนายสมนึก คงชู เกษตรจังหวัดพัทลุง สำนักงานเกษตรอำเภอ และเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดพัทลุง ได้เข้าร่วมกิจกรรมในการส่งมอบเครื่องย่อยทางปาล์ม
ด้านนายสมเกียรติ ทองพันธ์ ประธานแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมของโครงการนี้ ได้รับการตอบรับจากเจ้าของแปลงปาล์มน้ำมันที่เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี เป็นโครงการที่ตอบสนองความต้องการของพื้นที่ ทำให้กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันได้ใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ ได้แก่ ทางปาล์มน้ำมัน นำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง เป็นปุ๋ยหมักช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ช่วยลดต้นทุนการผลิต และก่อให้เกิดความยั่งยืน
กรมส่งเสริมการเกษตร