สศท.7 เผยผลการศึกษาการพัฒนาน้ำนมดิบอินทรีย์

122

สศท.7 เผยผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาน้ำนมดิบอินทรีย์ ภายใต้ BCG Model สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์รายสินค้า กรณีศึกษาน้ำนมดิบอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ตามกรอบแนวคิด BCG Economy Model ซึ่งเป็นแนวทางในการยกระดับการผลิตน้ำนมดิบอินทรีย์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้เกษตรกรนำไปสู่ความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

นางอังคณา พุทธศรี
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

จากผลการศึกษาของ สศท.7 พบว่า ปัจจุบันมีฟาร์มโคนมอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี จำนวน 8 ฟาร์ม มีพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงโคนมอินทรีย์ จำนวน 1,852 ไร่ มีโคนมอินทรีย์ จำนวน 998 ตัว โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลซับสนุ่น อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เป็นกลุ่มหลักในการดำเนินการ และมีเครือข่ายฟาร์มโคนมภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจฯ จำนวน 5 ฟาร์ม ผู้ประกอบการรายเดี่ยว 2 ฟาร์ม และส่วนองค์กรรัฐวิสาหกิจ 1 ฟาร์ม ได้แก่ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค) สำนักงานภาคกลาง โดยทุกฟาร์มผ่านการรับรองมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ Organic Thailand และได้มีการดำเนินงานและบริหารจัดการตามรูปแบบเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) อย่างเป็นรูปธรรม

ด้านสถานการณ์การผลิต พบว่า เกษตรกรนิยมเลี้ยงโคนมอินทรีย์สายพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยนหรือสายพันธุ์ขาวดำ เนื่องจากเป็นโคสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ ให้น้ำนมเฉลี่ยสูงที่สุด ปัจจุบันการเลี้ยงโคนมอินทรีย์ของจังหวัดสระบุรี มีโคที่สามารถรีดนมได้ 304 ตัว ได้ผลผลิตน้ำนมดิบอินทรีย์ทั้งจังหวัด 129,600 กิโลกรัม/เดือน หรือ 129.6 ตัน/เดือน ผลผลิตน้ำนมดิบอินทรีย์เฉลี่ย 13.90 กิโลกรัม/ตัว/วัน ราคาขายน้ำนมดิบอินทรีย์ (ราคา ณ วันที่ 9 กันยายน 2567) เฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท/กิโลกรัม ซึ่งราคาจะสูงกว่าน้ำนมดิบทั่วไปที่มีราคาอยู่ที่ 20.10 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากน้ำนมจากโคนมอินทรีย์ เป็นน้ำนมที่ไม่มีการปรุงแต่งกลิ่นและรสใด ๆ ไม่มีสารเคมี ยาปฏิชีวนะ และฮอร์โมนตกค้างในน้ำนม ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสูง ผลผลิตน้ำนมดิบอินทรีย์ของเกษตรกรส่วนใหญ่จำหน่ายให้กับบริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งรับซื้อผลผลิต โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายคือ สมาชิกต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในด้านปศุสัตว์อินทรีย์ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร สมาชิกต้องไม่ยึดถือผลกำไรเป็นหลัก และสมาชิกต้องมีความพร้อมในการผลิตพืชอาหารสัตว์ได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก และในส่วนของน้ำนมดิบอินทรีย์ของ อ.ส.ค. จะส่งผลผลิตน้ำนมดิบอินทรีย์ภายในฟาร์มเข้าสู่โรงงานนมออร์แกนิคของ อ.ส.ค.

สำหรับแนวทางพัฒนาสินค้าน้ำนมดิบอินทรีย์ตามกรอบแนวคิด BCG Economy Model ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ มีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเพิ่มมูลค่าประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคนมพันธุ์ดีให้มีความต้านทานโรค ให้น้ำนมสูง การจัดการฟาร์ม จะคำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) มีการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำนมดิบอินทรีย์ได้แก่ นมพาสเจอร์ไรส์ โยเกิร์ต กรีกโยเกิร์ต (Organic Greek Yogurt) เต้าฮวยนมสด น้ำมะพร้าวนมสด เบเกอรี่ และไอศกรีม ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการจัดการวัสดุเหลือใช้โดยนำน้ำนมอินทรีย์ตกเกรด (น้ำนมเหลืองที่โคคลอดใหม่) มาผลิตเป็นน้ำนมหมักชีวภาพเพื่อใช้บำรุงพืช นำมูลโคมาผลิตเป็นมูลโคตากแห้งใส่แปลงหญ้าอาหารสัตว์ สำหรับเลี้ยงโคอินทรีย์และมาผลิตทำปุ๋ยคอกหมักเพื่อใช้หว่านแปลงพืชอาหารสัตว์และนำมาผสมเป็นอาหารข้น เลี้ยงโคนมอินทรีย์ และด้านเศรษฐกิจสีเขียว การผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างเข้มงวด มีการเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในฟาร์มโดยปลูกหญ้า เลี้ยงโคนมอินทรีย์ และปลูกไม้ยืนต้น

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการผลิตน้ำนมดิบอินทรีย์เกษตรกรควรยึดหลักการพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากภายนอก คัดเลือกสารอาหารที่สำคัญในวัตถุดิบแต่ละชนิด และพัฒนาอาหารที่มีสัดส่วนคุณค่าทางโภชนาการสูงมาผลิตเป็นอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และภาครัฐควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ สนับสนุนให้ผู้บริโภคเห็นประโยชน์ของการดื่มน้ำนมอินทรีย์มากขึ้น สำหรับท่านที่สนใจผลการศึกษาเชิงลึกสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.7 โทร 0 5640 5008 หรืออีเมลล์ [email protected]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร