เกษตรฯ ลุยส่งเสริมตลาดกล้วยหอมทองส่งญี่ปุ่น

81

เกษตรฯ พลิกวิกฤตลุยส่งเสริมตลาดกล้วยหอมทองส่งญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นิยมบริโภคกล้วยมาก เพราะผลไม้ที่มีรสชาติอร่อย มีคุณค่าทางอาหารสูง ราคาไม่แพง เข้าถึงได้ และสามารถนำไปใช้แปรรูปเป็นขนมได้หลายชนิด ขณะที่ญี่ปุ่นปลูกกล้วยหอมได้ในปริมาณน้อย เนื่องจากมีภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นแต่ละปีจะต้องนำเข้ากล้วยเข้ามาบริโภคในประเทศถึงปีละกว่า 1 ล้านต้น ทั้งนี้ประเทศไทยมีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan – Thailand Economic Partnership Agreement) (JTEPA) โดยญี่ปุ่นให้สิทธิพิเศษการยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยจากประเทศไทย เป็นจำนวน 8,000 ตัน ภายใต้ความร่วมมือญี่ปุ่นนี้สอดคล้องกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency-JICA) ที่ ได้มีแนวโน้มจะขยายพื้นที่นำร่องในการศึกษาและพัฒนากระบวนการผลิตและการเพิ่มมูลค่ากล้วยหอมทองเพื่อส่งออก ซึ่งถือเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยที่จะสามารถพัฒนาการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังจากการหารือกับ JICA การส่งเสริมการผลิตกล้วยหอม ที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกกล้วยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้สูงสุดประมาณ 2,900 ตันต่อปี เท่านั้นจึงเห็นโอกาสขยายตลาดและได้สั่งการให้เดินหน้าการผลักดันการส่งออกกล้วยไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ และย้ำในการผลิตกล้วยหอมคุณภาพเพื่อส่งตลาดญี่ปุ่น เช่น อำเภอเสิงสางเป็นแหล่งผลิตกล้วยหอมทองที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอมทองถึง 1,350 ไร่ และมีปริมาณผลผลิตได้ถึง 8,100 ตันต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อเป้าความต้องการของตลาดญี่ปุ่นในปีหน้า นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นการผลิตเทคโนโลยีทางชีวภาพที่จะทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรง ปลอดโรคคุณภาพของผลผลิตเป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้ในปี 2567 ศูนย์ขยายพันธุ์พืช สามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยหอมทอง ได้กว่า 130,000 ต้น โดยส่งต่อให้กลุ่มเกษตรกร นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรยังส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว เช่น การนำเทคโนโลยีไมโครนาโนบับเบิ้ลมาประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีฟองอากาศขนาดเล็กระดับไมโคร/นาโนเมตร ในกระบวนการล้างกล้วยหอมทองเพื่อยับยั้งเชื้ออีโคไล เป็นวิธีที่ปลอดภัยและปลอดการใช้สารเคมี เพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุกล้วยได้นานขึ้นอีกด้วย

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษาวิจัยการทำกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะได้นำผลการศึกษามาปรับใช้ในการวางนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตรต่อไป ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมที่จะดำเนินงานร่วมกับ JICA และเชื่อมความสัมพันธ์กันในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับภาคเกษตรของประเทศไทย นอกจากนี้จากการหารือ ญี่ปุ่นยังให้ความสนใจกับหลายประเด็นในภาคการเกษตรที่มีความท้าทายและน่าสนใจในการพัฒนาให้สามารถส่งออกในประเทศญี่ปุ่นได้มากขึ้น เช่น กล้วยหอมเขียว ซึ่งประเทศไทย ควรพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น มีมาตรฐานรองรับ และเพิ่มกำลังการผลิตให้สามารถส่งออกได้มากขึ้น รวมถึงผลไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ทุเรียน มะม่วงพันธุ์มหาชนก รวมถึงการหารือถึงแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้และหลักสูตรที่จะถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร ที่ต้องมุ่งเน้นนโยบายส่งเสริมเกษตรยั่งยืน เกษตรสีเขียว มาตรฐานสินค้าเกษตร การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกประเทศต่างประสบปัญหาใกล้เคียงกัน เช่น สภาพอากาศที่แปรปรวน แรงงานภาคการเกษตรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภัยพิบัติ ฯลฯ ทั้งหมดล้วนส่งผลให้คุณภาพและปริมาณผลผลิตภาคเกษตรลดลง และสวนทางกับปริมาณความต้องการทางด้านอาหารที่เพิ่มมากขึ้น ประเมินจากธุรกิจอาหารสุขภาพเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด          

การส่งเสริมการผลิตกล้วยหอมคุณภาพ จึงเป็นแนวทางสำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพ รวมถึงการมีตลาดรองรับที่ชัดเจนเพื่อให้เกษตรกร สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย

กรมส่งเสริมการเกษตร