กปม. เดินหน้าพัฒนา 3,156 องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น

17

กรมประมงเดินหน้าพัฒนา 3,156 องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ตั้งเป้าปั้นเพิ่มอีก 200 ชุมชน เน้นส่งเสริม 4 ทักษะสำคัญ เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ พัฒนาอาชีพประมง ถ่ายทอดเทคโนโลยี และเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ อัดฉีดองค์กรละ 1 แสนบาท

นางฐิติพร  หลาวประเสริฐ  รองอธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า จากการริเริ่มและผลักดันการจัดตั้ง “องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น” ของท่านอธิบดีกรมประมง (นายบัญชา  สุขแก้ว) ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟูอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เกิดการรวมกลุ่มทำให้เกิดอำนาจการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง และได้รับการส่งเสริมด้านการตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้า จนสามารถเพิ่มรายได้ให้กับชาวประมงได้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปัจจุบันมีองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง จำนวนทั้งสิ้น 3,156 องค์กร โดยแบ่งออกเป็น (1) องค์กรชุมชนประมงชายฝั่ง จำนวน 914 องค์กร  (2) องค์กรชุมชนประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง จำนวน 63 องค์กร  (3) องค์กรชุมชนการทำประมงน้ำจืด จำนวน 726 องค์กร  (4) องค์กรชุมชนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวน 955 องค์กร  (5) องค์กรชุมชนการแปรรูป จำนวน 498 องค์กร

นางฐิติพร  หลาวประเสริฐ  รองอธิบดีกรมประมง

โดยที่ผ่านมากรมประมงได้ดำเนินการจัดทำโครงการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนประมงท้องถิ่น ไปแล้วกว่า 1,056 องค์กร ภายใต้การจัดสรรงบประมาณไปแล้วกว่า 108 ล้านบาท อาทิ การพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง มีการส่งเสริมกิจกรรมเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ ด้วยการพัฒนาแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในชุมชน ธนาคารสัตว์น้ำชุมชน ฯลฯ หรือจะเป็นกิจกรรมการพัฒนาอาชีพปรับปรุงการจับสัตว์น้ำ โดยการเปลี่ยนเครื่องมือทำการประมงที่ถูกกฎหมายและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของชุมชนและชนิดสัตว์น้ำ เพื่อประโยชน์ในการลดแรงงานและลดเวลาทำการประมง กิจกรรมการเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมความรู้ในการเก็บรักษาและการแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อให้สัตว์น้ำมีคุณภาพที่ดี การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น การเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง เพื่อเป็นอาชีพเสริมแก่ชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งกรมประมงได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงตลาดเพื่อนำผลผลิตที่ได้ไปจำหน่ายผ่านองค์กรต่าง ๆ ทั้งสมาคมโรงแรม  สมาคมการท่องเที่ยว ภัตตาคารร้านอาหาร และผ่านระบบออนไลน์ ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มทักษะในการจับสัตว์น้ำในรูปแบบที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้โครงการดังกล่าวสามารถช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมให้กลับมาดีขึ้น พัฒนาอาชีพให้กับชุมชนประมงในท้องถิ่นตลอดห่วงโซ่การผลิตให้มีรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจนสามารถก่อให้เกิดรายได้ชุมชนได้กว่า 12 % นอกจากนี้ ยังมีโครงการเสวนาสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นระดับจังหวัดและระดับประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียนจากการดำเนินงานพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงชายทะเลและแนวทางในการขับเคลื่อนเสริมสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการทรัพยากรโดยจะเน้นการพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เกิดความยั่งยืน

ทั้งนี้ ในการดำเนินการตลอดระยะเวลา 5 ปี กรมประมงสามารถส่งเสริมองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นให้สามารถพัฒนาจนประสบผลสำเร็จมากมาย และในปี 2567 มีหลายชุมชน อาทิ กลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านท่าแกรง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นกลุ่มประมงชายฝั่งที่มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรประมง ซึ่งได้จัดตั้งธนาคารปูม้าของชุมชนบ้านท่าแกรง โดยมีกระชังที่สร้างไว้ในบริเวณริมน้ำ หรือใส่ในถังพักในโรงอนุบาลปูม้าก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ส่งผลให้มีปริมาณลูกปูม้าเพิ่มมากขึ้น เป็นการสร้างความสมดุล สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวชุมชน หรือ กลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำบ้านท่าค้ำ จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำที่ผลิตภัณฑ์ได้รับเครื่องหมายการรับรองมาตรฐานระบบการผลิตอาหาร (อย.) อาทิ แหนมปลา ปลาส้ม กุนเชียงปลา หนังปลาทอดกรอบ ฯลฯ เป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกและคนในชุมชน หรือ กลุ่มชุมชนรักษาพันธุ์สัตว์น้ำบ้านหงส์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มประมงน้ำจืดที่ทำการประมงควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในคลองสาธารณะที่ลดลงให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งรายได้ของชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนริมคลอง หรือ กลุ่มธนาคารสัตว์น้ำหนองตาอยู่ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีการเพาะขยายพันธุ์ปลาตะเพียนขาว ครบวงจร ด้วยชุดเพาะพันธุ์ปลาเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) โดยการอนุบาลลูกพันธุ์ปลาในบ่ออนุบาล ก่อนปล่อยลูกพันธุ์ลงในธนาคารสัตว์น้ำหนองตาอยู่ รวมทั้งมีการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบแหล่งน้ำเพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยจะเปิดจำหน่ายบัตรจับปลาเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกและชุมชน ฯลฯ

               จากความสำเร็จดังกล่าวโดยเฉพาะรอบปีที่แล้ว องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงสุดมากถึง 247% และโดยเฉลี่ยในทุกองค์กรมีรายได้เพิ่มขึ้น 12% ทำให้ขณะนี้ กรมประมงยังคงดำเนินการมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นต่อไป เป้าหมายในปี 2567 และ ปี 2568 คือ ปีละ 200 องค์กรจากทั่วประเทศ โดยจะยังคงเน้นพัฒนาใน 4 ด้านหลัก คือ การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ การพัฒนาอาชีพประมง การถ่ายทอดเทคโนโลยีและเพิ่มทักษะ การทำการประมง ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณให้องค์กรละ 1 แสนบาท เพื่อนำไปเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพของชาวประมง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืน สนับสนุนการแปรรูปและการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและความเข้มแข็งของชุมชนประมงทั่วประเทศได้ในระยะยาว

กรมประมง