ศพก. เครือข่ายฯ มะม่วงปราจีนบุรี คว้ารางวัลดีเด่น

133

ศพก. เครือข่ายฯ มะม่วงปราจีนบุรี คว้ารางวัล ศพก. ดีเด่น ระดับประเทศ ปี 2567 ต้นแบบการใช้เทคโนโลยีผลิตมะม่วง ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจัดประกวดศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ดีเด่น ระดับประเทศ ปี 2567 ขึ้น เพื่อคัดเลือกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่จะเป็นต้นแบบการขยายผลการส่งเสริมการเกษตรด้านการผลิตสินค้าเกษตร การใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรในชุมชน และพื้นที่อื่นโดยรางวัลชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท โล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 35,000 บาท โล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท โล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร และรางวัลชมเชย ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท โล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร โดยผลการประกวดมีดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายสงคราม ธรรมะ ศพก. เครือข่าย ศูนย์เรียนรู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะม่วงนอกฤดูบ้านมาบเหียง อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี จากผลสำเร็จในการลดต้นทุนในการผลิตมะม่วง การเพิ่มมูลค่าผลผลิตมะม่วงได้ร้อยละ 16.66 ของผลผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด จาก 1,286 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 1,543 กิโลกรัมต่อไร่ ด้วยกระบวนการผลิตสินค้าตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตมะม่วงอย่างเหมาะสม ทั้งด้านลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าผลผลิต และการแปรรูป มีการผลิตท่อนพันธุ์มะม่วงพันธุ์ดี รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความร่วมมือสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ด้วย

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายสุริยา ขันแก้ว ศพก. อำเภอลอง จังหวัดแพร่ จากผลสำเร็จในการเป็นเกษตรกรต้นแบบที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และความสามารถทางการเกษตรหลายด้าน เช่น การผลิตผักปลอดภัย การจัดการศัตรูพืช การปรับปรุงบำรุงดิน การบริหารจัดการฟาร์มที่ดี สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำเทคโนโลยีการเกษตรเข้ามาปรับประยุกต์ใช้ในแปลง เช่น ใช้โซล่าเซลล์ในระบบน้ำเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน มีโรงเรือนอัจฉริยะ มีการจัดการระบบน้ำในแปลงโดยเครื่องตั้งเวลารดน้ำต้นไม้แบบอัตโนมัติในพื้นที่จำกัดให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ ของเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ นายสุมิตร ศรีวิสุทธิ์ ศพก. อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช จากผลสำเร็จในการเป็นเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่มีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการถ่ายทอดความรู้ในด้านต่าง ๆ ทางวิชาการที่ทางหน่วยงานต่าง ๆ ยอมรับ เพื่อให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพารา พร้อมทั้งการอนุรักษ์ธรรมชาติโดยใช้แนวคิดการปลูกพืชร่วมยาง ตลอดจนถึงความยั่งยืนของเกษตรกร และทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีหลักสูตรการเรียนรู้หลัก คือ การปลูกพืชร่วมยาง การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน  การจัดการโรคในสวนยางพารา และระบบกรีดยางพารา เพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาการผลิตของตนเอง  ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง สามารถปลูกพืชร่วมยางเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้

สำหรับรางวัลชมเชย มีจำนวน 6 รางวัล ได้แก่ นางสาวนวลลออ เทิดเกียรติกุล ศพก. เครือข่าย ด้านการผลิตมะพร้าวครบวงจร อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี นายสมพร อาภาศิริกุล ศพก. อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี นางบุญเรือง วาดสีดา ศพก. เครือข่ายเกษตรอินทรีย์เพชรจินดา อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ นายนัน ชูเอียด ศพก. อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง นายพิชัย โสทะ ศพก. อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ และนายนาวี ไชยมี ศพก. เครือข่ายสวนเกษตรศักดิ์ผู้ใหญ่นาวี อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจะขยายผลงานความสำเร็จของ ศพก. ต่อไป เพื่อให้เกษตรกรที่มาเรียนรู้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และเกิดจิตสำนึกในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ที่มีการใช้ปัจจัยการผลิตได้อย่างเหมาะสม และนำองค์ความรู้ที่ได้รับจาก ศพก. ไปประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณ และคุณภาพของผลผลิต ผลิตสินค้าที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม และมีระบบการผลิตที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

กรมส่งเสริมการเกษตร