เกษตรฯ ชูผลการขับเคลื่อน 3R Model 4 พื้นที่ต้นแบบ

88

กรมส่งเสริมการเกษตร ชูผลการขับเคลื่อน 3R Model 4 พื้นที่ต้นแบบ พร้อมผลักดันและขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่บริหารจัดการสินค้าเกษตรใหม่ ลดเผา ปลอด PM2.5 ชี้ช่องเกษตรกรไทย

กรมส่งเสริมการเกษตรชูผลสำเร็จจากการขับเคลื่อน 3R Model 4 ต้นแบบ 4 พื้นที่ เพื่อลดผลกระทบจากการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมโดยเครือข่ายเกษตรกรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับ Climate Smart Agriculture ด้วยการส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ ได้แก่ ส่งเสริมการจัดระบบนาข้าวร่วมกับการเพาะปลูกพืช โดยนำการวางแผน และจัดระบบพื้นที่นาข้าวที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกมาวิเคราะห์เพื่อปลูกพืชสร้างรายได้อื่นๆ แทนการทำนาปรัง เช่น พืชตระกูลถั่ว ไม้ตัดดอกอายุสั้น มันฝรั่ง เป็นผลให้สามารถลดรอบการทำนา และช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากการขังน้ำทำนาปรังลงได้ การไม่เผาในพื้นที่การเกษตร โดยใช้ 3R Model มาใช้ในการขับเคลื่อนโดยการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตร ให้ปลอดการเผา เกษตรกรมีรายได้ตลอดฤดูกาลผลิต การพัฒนาต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ ในมันสำปะหลังและอ้อยโรงงาน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเตรียมดิน การจัดการระหว่างการเพาะปลูก การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการจัดการดินปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามความต้องการของพืชเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้ปุ๋ยที่มากเกินความจำเป็น รวมถึงการพัฒนาแบบจำลองการพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้า  โดยออกแบบและสร้างฐานข้อมูลสถานีวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ โดยพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลผ่าน API (Application Programming Interfaces) เพื่อแจ้งเตือนเกษตรกรให้สามารถวางแผนทำการเกษตร ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การให้น้ำ ให้ปุ๋ย การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับขับเคลื่อน 3R Model กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขับเคลื่อนและพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้ระบุพื้นที่เผาซ้ำซาก พัฒนาระบบแจ้งเตือนเกษตรกรเป็นรายบุคคล (Personal–notification System) ในการจัดการเศษวัสดุหลังเก็บเกี่ยว ผ่านแอปพลิเคชัน “Farmbook” และทะเบียนเกษตรกรออนไลน์ (e-Form) รวมถึงพัฒนาระบบแผนที่ให้สามารถแสดงพิกัดสถานที่ที่มีความสามารถในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น พิกัดจุดรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โรงไฟฟ้าชีวมวล จุดรับอัดฟาง หรือให้บริการเช่าเครื่องจักรอัดฟาง เป็นต้น   นอกจากนี้ยังได้ขับเคลื่อน 3R Model ในพื้นที่ต้นแบบของเกษตรกร
จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร โดยการส่งเสริมวิธีปฏิบัติทางการเกษตรที่ไม่เผา ซึ่งเป็นการสนับสนุนการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเศษซากพืชในรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องเผา หรือ Re – Habit เกษตรกรเลือกใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวสับต้นข้าวโพดไถกลบเป็นปุ๋ยในดิน ทำการเกษตรแบบ GAP และทำสัญญาเป็นคู่ค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คุณภาพกับเอกชน โดยปัจจัยในความสำเร็จของกลุ่มคือ ผู้นำบริหารในรูปแบบธุรกิจ บริหารเงินทุน สร้างความเชื่อมั่น กลุ่มเข้มแข็ง สามารถรักษาคุณภาพและควบคุมมาตรฐานผลผลิตได้ มีตลาดแน่นอน สร้างเครือข่ายความรู้และการตลาด รวมถึงใช้เทคโนโลยี แอปพลิเคชัน และข้อมูลที่หลากหลายในการบริหารจัดการทั้งระบบ

นอกจากนี้การส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกพืชแบบดั้งเดิมไปสู่การปลูกพืชทางเลือกที่ให้กำไรสูงกว่า Replace with High Value Crops ตัวอย่าง บ้านแกน้อย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกไม้ผล เพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยส่งผลผลิตขายโครงการหลวงและตลาดทั่วไป พบว่าสามารถปรับลดสัดส่วนพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นการปลูกไม้ผล ได้แก่ มะม่วงแก้วขมิ้น อะโวคาโด ถั่วดำ
ถั่วแดงอะซุกิ เป็นพืชทางเลือกที่ให้กำไรสูงกว่า ทั้งนี้ปัจจัยของความสำเร็จ คือมีตลาดแน่นอน มีการจัดการผลผลิตตามความต้องการตลาด เกษตรกรเปลี่ยนการเพาะปลูกแบบค่อยเป็นค่อยไปและเลือกพืชปลูกที่เหมาะสมกับพื้นที่

ส่วนความสำเร็จของการส่งเสริมการเกษตรจัดการพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ราบ Replace with Alternate Crop ในอำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม และอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เกษตรกรในพื้นที่ทำนาครั้งเดียว ในช่วงเดือนพฤษภาคม  – ตุลาคม แล้วปล่อยพื้นที่ว่าง เผาฟางเอง ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดข้าวเหนียว พันธุ์ sweet purple ปลูกพริกจินดา โดยแปรรูปพริกแห้ง ขายปลีกและส่งพ่อค้าชุมชน รวมถึงเก็บฟางอัดก้อนเลี้ยงสัตว์
และขายในพื้นที่ วางแผนมีตลาดรับซื้อผลผลิต สามารถวางแผนปลูกข้าวโพดข้าวเหนียว หมุนเวียน 6 รอบ/ ปี โดยปัจจัยของความสำเร็จคือ ตลาดที่ไม่จำกัดสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เกษตรกรวางแผนการผลิตให้มีรายได้ตลอดปี ผลิตเหมาะสมกับพื้นที่ ปริมาณน้ำและแรงงาน รวมถึงกลุ่มมีสร้างเครือข่ายความรู้และการตลาดร่วมกันด้วย “การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละออง PM 2.5 จากภาคเกษตร เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องดำเนินการร่วมกัน เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาในภาพรวมให้สำเร็จ โดยต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งเกษตรกรควรตระหนักถึงผลเสียของการก่อมลพิษด้วยการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมและร่วมกันรับผิดชอบ ทางเลือกที่สำคัญคือใช้วิธีการจัดการกับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ถูกต้องเหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อการทำเกษตรกรรมและช่วยลดปัญหามลพิษได้อย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย

กรมส่งเสริมการเกษตร