รมช.เกษตรฯ ร่วมยินดีครบรอบ 52 ปีกรมวิชาการเกษตร ชื่นชมผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร

นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีอ่านสารแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบ 52 ปี ณ ห้องประชุม อาคารปฏิบัติการตรวจสอบรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร พร้อมกล่าวว่า ในปี 2567 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตรสู่ความสำเร็จ สานต่อนโยบายเดิม 9 ด้าน เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน เพื่อสร้างรายได้ โอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้เกษตรกรไทย สอดรับกับนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีเป้าหมายให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้ภาคการเกษตรไทย

กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่สำคัญของกระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นหลักในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทย โดยใช้งานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในปัจจุบันเป็นยุคที่มีความท้าทาย เพราะเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระบาดของโรค แมลงศัตรูพืชใหม่ ความมั่นคงทางอาหาร ความต้องการอาหารสุขภาพในอนาคต และการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ กรมวิชาการเกษตร ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยการนำผลวิจัยนวัตกรรม และเทคโนโลยี มาช่วยในการสร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิต ให้กับเกษตรกร โดยเน้นการบริหารจัดการภาคการเกษตรที่ครบถ้วนทุกด้าน เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง ซึ่งเป็นอีกนโยบายที่ต้องการให้ช่วยในการขับเคลื่อน โดยขอให้มีงานวิจัยที่มีการต่อยอด โครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง (76 จังหวัดสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง) รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ ให้กับเกษตรกร 3 เท่า ใน 4 ปี


รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อไปว่า นโยบายด้านการจัดการทรัพยากรทางการเกษตรก็เป็นนโยบายจำเป็นที่กรมวิชาการเกษตรต้องเร่งดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เพื่อสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำในภาคการเกษตร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโครงการนำร่องการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพแบบ Low Carbon ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ รวมทั้งการจัดตั้งกองวิจัยพืชเศรษฐกิจใหม่ และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรกำลังดำเนินการเพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตในพืชเศรษฐกิจหลักและพัฒนาหน่วยงานจนสามารถเป็นหน่วยตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตภายใต้มาตรฐานขององค์การบริหารจัดการ ก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจประเมินแล้วจำนวน 31 ราย
ซึ่งการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับเป็นวาระสำคัญระดับนานาชาติในระดับอาเซียน
นอกจากนี้ ยังมีภารกิจที่สำคัญอีกด้านของกรมวิชาการเกษตรคือการสานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน ป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรผิดกฎหมายด้านพืช รวมถึงการลดขั้นตอนการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้รับบริการด้านการรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งแต่ละปีมีการขอและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชไม่น้อยกว่า 400,000 ฉบับ มูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 800,000 ล้านบาท รวมถึงการพัฒนาระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto) เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการให้เกิดความสะดวกต่อผู้รับบริการ



ด้านนายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการปฏิบัติภารกิจของกรมวิชาการเกษตรในด้านการวิจัยคือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในงานวิจัยและการให้บริการ เช่น ห้องปฏิบัติการในโครงการ DOA Future Lab เพื่อยกระดับห้องปฏิบัติการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มีมาตรฐานสากล และยกระดับการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในการปรับปรุงพันธุ์พืช (Gene Editing) เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศและต้านทานต่อโรคและศัตรูอุบัติใหม่ เป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ และพันธุ์พืชเขตร้อน (Tropical Seed Hub) และมีศูนย์ถ่ายทอดเพื่อสร้างการเรียนรู้ความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่โดยนำระบบ AI เข้ามาใช้ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการวิจัยเพื่อให้เกิดการนำผลงานไปสู่การปฏิบัติอย่างแพร่หลาย รวมถึง นโยบายด้านการพิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยกรมวิชาการเกษตรได้เตรียมการจัดงานใต้ร่มพระบารมี 30 ปี ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ เพื่อสนองพระราชดำริและน้อมนำพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด ขยายผลสู่ประชาชนต่อไป



กรมวิชาการเกษตร