สศท.2 แจงข้อมูลเอกภาพพืชเศรษฐกิจสำคัญ

55

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) แจงข้อมูลเอกภาพพืชเศรษฐกิจสำคัญ ภาคเหนือ 17 จังหวัด

นางธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานพัฒนาคุณภาพข้อมูลปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืชภาคเหนือ ครั้งที่ 1/2567 เพื่อพิจารณาและรับรองข้อมูลสินค้าด้านพืช ภาคเหนือ รวม 17 จังหวัด ได้แก่ ข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2566/67 สับปะรดปัตตาเวีย ปี 2566 ยางพารา ปี 2566 ปาล์มน้ำมัน ปี 2566 มะพร้าวผลแก่ ปี 2566 กาแฟ ปี 2567 หอมหัวใหญ่ ปีเพาะปลูก 2566/67 มันฝรั่ง ปีเพาะปลูก 2566/67 กระเทียม ปีเพาะปลูก 2566/67 และหอมแดง ปีเพาะปลูก 2566/67 ทั้งนี้ ข้อมูลการเกษตรด้านพืชในระดับอำเภอ จังหวัด และภาค ที่มีความเป็นเอกภาพทั้งข้อมูลเนื้อที่เพาะปลูกเนื้อที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ของพืชทั้ง 10 ชนิดสินค้า มีดังนี้

นางธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

ภาพรวมทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ พบว่า ข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2566/67 มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 14,678,646 ไร่ ลดลงร้อยละ 0.37 เนื่องจากฝนมาล่าช้า และปริมาณน้ำไม่เพียงพอ เกษตรกรบางส่วนปรับลดพื้นที่ปลูกและปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 597 กิโลกรัม ลดลงร้อยละ 0.87 เนื่องจากฝนทิ้งช่วงทำให้การเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ สับปะรดปัตตาเวีย ปี 2566 มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 87,590 ไร่ ลดลงร้อยละ 13.28 เนื่องจากราคาปรับตัวลดลง ไม่จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก ประกอบบางส่วนมีการรื้อแปลงสับปะรดไปปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น/พืชไร่ ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 2,977 กิโลกรัม ลดลงร้อยละ 7.89 เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ผลผลิตไม่ได้ขนาดและคุณภาพ ยางพารา ปี 2566 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 1,556,312 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.28 เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีและให้ผลตอบแทนระยะยาว บางพื้นที่จึงปลูกเพิ่มแทนพืชไร่ ไม้ผลและไม้ยืนต้น ส่วนเนื้อที่กรีดรวม 1,416,387 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.83 ตามพื้นที่ปลูกใหม่ช่วงปี 2560 – 2561 ที่เริ่มเปิดกรีดได้เป็นปีแรก และผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 199 กิโลกรัม ลดลงร้อยละ 2.05 เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ประกอบกับขาดแคลนแรงงาน ปาล์มน้ำมัน ปี 2566 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 91,487 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.42 เนื่องจากเกษตรกรบางรายขยายพื้นที่ปลูกแทนพืชไร่จากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนเนื้อที่ให้ผล 85,513ไร่ ลดลงร้อยละ 0.11 เนื่องจากมีการตัดโค่นต้นปาล์มน้ำมันที่มีอายุมาก และผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,249 กิโลกรัม ลดลงร้อยละ 5.02 เนื่องจากกระทบแล้ง ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ ส่งผลให้น้ำหนัก และขนาดของทะลายปาล์มลดลง มะพร้าวผลแก่ ปี 2567 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 2,377 ไร่ ลดลงร้อยละ 3.14 เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นมะพร้าวที่อายุมาก และเก็บเกี่ยวผลผลิตยาก บางพื้นที่เป็นการปลูกแซมในพื้นที่นา/พืชไร่ เกษตรกรไม่ได้ดูแลรักษา เนื้อที่ให้ผล 1,990 ไร่ ลดลงร้อยละ 7.40 ตามการลดลงของเนื้อที่ยืนต้น และผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 318,460 กิโลกรัม ลดลงร้อยละ 3.42 จากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง และการดูแลรักษาไม่เต็มที่ และกาแฟ ปี 2567 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 137,628 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.63 เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐมีการส่งเสริมการปลูกกาแฟทดแทนพืชไร่ แซมในสวนไม้ผล และพื้นที่ป่า ส่วนเนื้อที่ให้ผล 126,326 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.28 เนื่องจากต้นกาแฟที่ปลูกในปี 2563 เริ่มให้ผลเป็นปีแรก และผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 90 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 16.88 จากกระทบแล้ง ปริมาณฝนน้อย และแมลงศัตรูพืชรบกวน ส่งผลให้กาแฟติดผลน้อยลง

ด้านสินค้าพืชผัก พบว่า หอมหัวใหญ่ ปีเพาะปลูก 2566/67 มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 7,688 ไร่ ลดลงร้อยละ 1.73 เนื่องจากเกษตรกรขาดความชำนาญในการปลูกและดูแลรักษา จึงเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น (กระเทียม) และบางส่วนไม่สามารถปลูกได้ เนื่องจากฝนมาล่าช้า และภาวะภัยแล้ง ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 3,875 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.70 จากสภาพอากาศหนาวเย็น เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต ประกอบกับราคาอยู่ในเกณฑ์ดีเกษตรกรจึงดูแลรักษามากขึ้น มันฝรั่ง ปีเพาะปลูก 2566/67 มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 39,225 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.67 จากบริษัทเอกชนส่งเสริมเพิ่มโควต้าผลิต ส่วนเนื้อที่เก็บเกี่ยว 38,986 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.56 ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 2,906 กิโลกรัม ลดลงร้อยละ 1.72 จากประสบปัญหาโรคเรดไบท์หรือโรคใบไหม้ ส่งผลให้ต้นมันฝรั่งเจริญเติบโตไม่ดี หัวมีขนาดเล็ก และเน่าเสียหาย อีกทั้งปุ๋ยยาที่มีราคาสูงทำให้การดูแลรักษาลดลง กระเทียม ปีเพาะปลูก 2566/67 มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 50,822 ไร่ ลดลงร้อยละ 3.80 เนื่องจากขาดแคลนหัวพันธุ์ อีกทั้งต้นทุนการผลิตสูง เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก) ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,032 กิโลกรัม ลดลงร้อยละ 5.75 จากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ทำให้หัวมีขนาดเล็ก และหอมแดง ปีเพาะปลูก 2566/67 มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 27,545 ไร่ ลดลงร้อยละ 4.12 เนื่องจากขาดแคลนหัวพันธุ์ ส่วนใหญ่ปลูกไว้เพื่อบริโภค ประกอบกับเกษตรกรคาดว่าปริมาณน้ำไม่เพียงพอ จึงหันไปปลูกพืชผักแทน ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,981 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.20 เนื่องจากไม่มีโรคและแมลงรบกวน ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต

ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดข้อมูลสินค้าด้านพืชทั้ง 10 ชนิด จำแนกในระดับอำเภอ และจังหวัด หากท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ ส่วนสารสนเทศการเกษตร สศท.2 โทร. 05 532 2658 ต่อ 205 หรืออีเมล [email protected] หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร