กยท. จับมือ ซีเอ็ม-โอ ไทย สร้างแอปฯ

67

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จับมือ ซีเอ็ม-โอ ไทย สร้างแอปฯ หนุนขอรับรองมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน หวังเพิ่มรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องชาวสวนยาง

ณ ห้องประชุมราชไมตรี กยท. สำนักงานใหญ่ — การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  ตั้งโต๊ะร่วม บริษัท ซีเอ็ม-โอ ไทย จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการส่งเสริมการทำสวนยางตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการ กยท. เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลง นำเทคโนโลยี พัฒนาแอปพลิเคชัน สนับสนุนการขอรับรองมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนผ่านสมาร์ทโฟน  มุ่งเพิ่มรายได้-คุณภาพชีวิตชาวสวนยางอย่างยั่งยืน

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า กยท.  ส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางพัฒนาผลผลิตของตนเองให้มีคุณภาพและมาตรฐานตามที่สากล ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตยางที่มีคุณภาพ มาตรฐานเหล่านี้ จะเป็นการเพิ่มรายได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรวมไปถึงการส่งเสริมการทำสวนยางตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนในระดับสากล เช่น มาตรฐาน FSCTM (Forest Stewardship Council) หรือมาตรฐาน PEFCTM (Program for Endorsement of Forest Certification)  ซึ่งเป็นการรับรองว่าผลผลิตยางเหล่านั้น มาจากป่าปลูกที่จัดการป่าอย่างถูกกฎหมาย ไม่เป็นการบุกรุกหรือตัดไม้ทำลายป่า ถือเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กยท. ภายใต้นโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์) ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการทำการเกษตรและส่งเสริมมาตรฐานผลผลิตการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมยอมรับ ซึ่งปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะมุ่งให้ความสนใจไปที่ มาตรฐานEUDR แต่ในความจริงแล้ว ยางมาตรฐาน FSCTM ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรฐาน
ที่ได้รับการยอมรับระดับสากลและเป็นที่ต้องการของตลาด

ดร.เพิก กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมการทำสวนยางตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ระหว่าง กยท.  และทางบริษัท ซีเอ็ม-โอ ไทย จำกัด ในครั้งนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งในการสนับสนุนเกษตรกรเพื่อยื่นขอการรับรองมาตรฐานดังกล่าว โดยนำเอาแอปพลิเคชันมาใช้ในขั้นตอนเตรียมข้อมูล หวังว่าการร่วมมือกันระหว่าง กยท. และเอกชน จะนำไปสู่การขยายผลการขอรับรองมาตรฐาน FSCTM  รวมไปถึงสามารถหาลูกค้าที่มีความต้องการวัตถุดิบที่ผ่านการรับรอง เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางได้มากยิ่งขึ้น

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล
รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานดังกล่าว สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการจัดการป่าไม้อย่างรับผิดชอบ ไม่ขัดต่อระเบียบกฎหมาย ทั้งนี้ การจัดการสวนป่าตามมาตรฐาน FSCTM จะคำนึงถึงความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของสวนป่า โดยหลักประกันนี้ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจรับรองได้ โดยปีงบประมาณ 2567 ทาง กยท. และบริษัท ซีเอ็มโอ-ไทย จำกัด ได้นำร่องใช้ระบบซอฟต์แวร์ยื่นข้อมูลขอรับรองมาตรฐานดังกล่าว ในพื้นที่สวนยางของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ใน อ.สว่างดินแดน จ.สกลนคร ซึ่งสามารถดำเนินการได้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วกว่า 2,000 ไร่ ทั้งนี้ กยท. มีเป้าหมายขยายไปยังพื้นที่สวนยางทั่วประเทศ กว่า 25,000 ไร่ ภายในปีงบประมาณ 2568 สำหรับความร่วมมือนี้ กยท. จะเข้าไปสนับสนุน ส่งเสริม ให้ความรู้เกษตรกรชาวสวนยางเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสวนยางตามมาตรฐานระดับสากล เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตยางพารา ไม้ยาง ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา นอกจากนี้ กยท.  จะเป็นผู้แทนในการประสานงานร่วมกับเกษตรกร  สถาบันเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเข้าร่วมโครงการฯ

“การนำเครื่องมือ เทคโนโลยีซึ่งมีประสิทธิภาพ มาสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สวนยางที่ยื่นขอการรับรองมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำ แน่นอนว่าจะมีส่วนช่วยให้ชาวสวนยางมีผลผลิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐานดังกล่าวได้มากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มรายได้จากราคาผลผลิตยางพรีเมี่ยม ถือเป็นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้ชาวสวนยางในอนาคต” รักษาการผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย

การยางแห่งประเทศไทย