การ์ดตก พบโรคใบด่างกว่าแสนไร่

1,028

การ์ดตก พบโรคใบด่างระบาดกว่าแสนไร่ ชี้ต้นตอปลูกพันธุ์อ่อนแอ  ใช้ท่อนพันธุ์ติดโรค

กรมวิชาการเกษตร เร่งกระชับพื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หลังพบพื้นที่ระบาดเพิ่มกว่าแสนไร่ใน 22 จังหวัด   ชี้เป้าปลูกพันธุ์อ่อนแอ และใช้ท่อนพันธุ์ติดโรค วอนเกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์มันสะอาดจาก 30 จังหวัดปลอดโรคใบด่าง  พร้อมปลูกมันพันธุ์ทนทานโรค ระยอง 72 และ KU 50

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยสถานการณ์การระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ล่าสุดพบโรคใบด่างระบาดในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของประเทศไทย รวมจำนวน 22 จังหวัด คือ กาญจนบุรี  กาฬสินธุ์  ขอนแก่น ชลบุรี ฉะเชิงเทรา  ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ระยอง ลพบุรี ศรีสะเกษ สระแก้ว สระบุรี  สุพรรณบุรี สุรินทร์ อุทัยธานี อุบลราชธานี มุกดาหาร และลำปาง รวมพื้นที่การระบาดทั้งหมดจำนวน  111,549  ไร่  ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคระบาดเพิ่มขึ้นเนื่องจากการมีการใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่มีการระบาดของโรค

นอกจากนี้ ยังพบเกษตรกรบางพื้นที่ยังคงปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้เคยแจ้งเตือนไปแล้วว่า แม้จะเป็นพันธุ์ที่โตได้ดี และให้น้ำหนักดี แต่เป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อทุกโรคของมันสำปะหลัง เช่น โรคหัวเน่า พุ่มแจ้  และใบด่าง ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 72 หรือ KU 50  ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างทนทานต่อโรคใบด่าง  และต้องเป็นพันธุ์ที่มาจากแปลงที่ผลิตต้นพันธุ์สะอาด และปลอดโรค รวมทั้ง ไม่ใช้ท่อนพันธุ์ที่ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากอาจมีโรคใบด่างติดเข้ามากับท่อนพันธุ์ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการระบาดในฤดูปลูกต่อมาได้

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การใช้ท่อนพันธุ์ที่มีแหล่งที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่การระบาดเพิ่มขึ้น  ดังนั้น จึงขอย้ำเตือนเกษตรกรให้เลือกใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากแหล่งที่ยังไม่พบการระบาดของโรคใบด่างจำนวน 30 จังหวัด  คือ กำแพงเพชร  จันทบุรี  ชัยนาท เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครนายก นครพนม นราธิวาส น่าน ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลำพูน เลย สกลนคร สิงห์บุรี สุโขทัย หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุตรดิตถ์ รวมทั้ง ขอความร่วมมือให้เกษตรกรหยุดปลูกพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค จึงจะสามารถหยุดวงจรการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากโรคใบด่าง จากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) ทำให้ผลผลิตเสียหายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ ที่สำคัญโรคนี้สามารถเข้าทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันเฝ้าระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรเพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่การระบาดขยายเป็นวงกว้างเพิ่มขึ้นอีกต่อไป

กรมวิชาการเกษตร ข่าว