“รมช.อิทธิ” ขับเคลื่อนโครงการผลิตอาหารหยาบ

124

“รมช.อิทธิ” ขับเคลื่อนโครงการผลิตอาหารหยาบ หนุนใช้ ข้าวโพดหมัก เลี้ยงโคนมให้น้ำนมดิบคุณภาพสูง ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสหกรณ์โคนมในเขตปฏิรูปที่ดินซับสนุ่น จำกัด ต.ซับสนุ่น อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เพื่อพบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่และร่วมรับฟังปัญหาอุปสรรค โดยมี นายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม

นายอิทธิ ศิริลัทธยากร
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบนโยบายแนวทางการลดต้นทุนอาหารสัตว์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยเร่งขับเคลื่อนโครงการผลิตอาหารหยาบคุณภาพสูง โดยการส่งเสริมการใช้ข้าวโพดหมัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตโคนม ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อย ซึ่งในพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก กรมปศุสัตว์ ได้มีการบูรณาการร่วมกับ อ.ส.ค. และสหกรณ์โคนมซับสนุ่น ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคอย่างยั่งยืน ช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค อีกทั้งช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวกรมปศุสัตว์จะดำเนินการขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของกรมปศุสัตว์ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 5,500 ไร่อีกด้วย

  โอกาสนี้ รมช.เกษตรฯ ได้กล่าวชื่นชมสหกรณ์โคนมในเขตปฏิรูปที่ดินซับสนุ่น จำกัด ที่มีความตั้งใจในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตน้ำนมดิบและสร้างความยั่งยืนให้กับสมาชิก สำหรับสหกรณ์แห่งนี้ จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2547 ปัจจุบันดำเนินธุรกิจมา 20 ปี มีสมาชิกทั้งหมด 186 ราย จำนวน 128 ฟาร์ม โคนม 5,706 ตัวพื้นที่ดำเนินการตำบลซับสนุ่น ตำบลลำพญากลาง ตำบลหนองย่างเสือ จังหวัดสระบุรี และตำบลห้วยขุนราม จังหวัดลพบุรี มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบขนาด 25 ตันต่อวัน ในปีบัญชีที่ผ่านมาสหกรณ์ดำเนินธุรกิจมีกำไร สุทธิ 4.463 ล้านบาท 

  จากนั้น รมช.เกษตรฯ และคณะ เดินทางเยี่ยมชมฟาร์มโคนมต้นแบบ “ภูพานเพชร” ของนายสมพงษ์ ภูพานเพชร ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย (จำกัด) ซึ่งมีการส่งเสริมการใช้ข้าวโพดหมักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตโคนม โดยมีโคที่เลี้ยงทั้งหมด 115 ตัว โครีด 53 ตัว โคพักรีด 14 ตัว โคสาว 21 ตัว โครุ่น 21 ตัว ลูกโค 6 ตัว ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา กรมปศุสัตว์ได้ให้คำแนะนำปรับสูตรอาหารตามประสิทธิภาพการผลิต ทำให้มีปริมาณนมเพิ่มขึ้น 41% จากเดิม ปริมาณนมเฉลี่ย 11.24 กก.ต่อตัวต่อวัน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 15.92 กก. ต่อตัวต่อวัน ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์