สศท.4 เผยแนวทางการพัฒนาถั่วลิสง

23

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4) เผยแนวทางการพัฒนาถั่วลิสง ทดแทนการผลิตข้าวนาปรัง ในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) จ.กาฬสินธุ์

นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ถั่วลิสงนับเป็นพืชทางเลือกที่มีศักยภาพ มีโอกาสทางการตลาด พบมีการปลูกอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศ แหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปี 2567 สศท.4 ได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ กรณี ถั่วลิสง ทดแทนการผลิตข้าวนาปรัง ในพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) ตามแผนที่ Agri-Map ของจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นแนวทาง ปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นที่มีศักยภาพ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)


            สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์ มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวรวม 1,447,553.41 ไร่ ปลูกในพื้นที่ระดับความเหมาะสมน้อย (S3) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) รวม 853,821.6 ไร่ หรือร้อยละ 59 ของพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัด ซึ่งจากการศึกษา พบว่า เกษตรกรในพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกถั่วลิสงทดแทนข้าวนาปรังในพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) เนื่องจากตลาดมีความต้องการต่อเนื่อง ประกอบกับเกษตรกรในพื้นที่มีความเชี่ยวชาญในการเพาะปลูก และได้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกข้าวนาปรัง สำหรับต้นทุนการปลูกถั่วลิสง ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 12,958.14 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิตเฉลี่ย 472.06 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 14,964.30 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 2,006.16 บาท/ไร่/รอบการผลิต ซึ่งหากเทียบกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) ตามแผนที่ Agri-Map ในปี 2566 เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 56.32 บาท/ไร่/รอบการผลิต ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหากเกษตรกรที่เลือกปลูกถั่วลิสงจะได้รับผลตอบแทนสุทธิมากกว่าการปลูกข้าวนาปรัง 1,949.84 บาท/ไร่/รอบการผลิต

          ราคาถั่วลิสงที่เกษตรขายได้ ปี 2566 แบ่งเป็น ถั่วลิสงเปลือกแห้ง ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 43.67 บาท/กิโลกรัม และถั่วลิสงเปลือกสด ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 26.59 บาท/กิโลกรัม ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.54 เกษตรกรจำหน่ายให้แก่พ่อค้าเร่ทั้งในและนอกจังหวัด รองลงมาผลผลิตร้อยละ 24.28 เกษตรกรเก็บไว้ทำเป็นเมล็ดพันธุ์ ผลผลิตร้อยละ 13.36 แปรรูปและจำหน่ายเองในชุมชนหรือตลาดนัด และผลผลิตร้อยละ 3.82 จำหน่ายผ่านวิสาหกิจชุมชน อาทิ วิสาหกิจแปรรูปถั่วลิสงชุมชนบ้านด่านใต้ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกถั่วลิสงบ้านสมสะอาด

ทั้งนี้ ถั่วลิสงถือว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้ปลูกถั่วลิสงยังพบปัญหา อาทิ ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ การเก็บเมล็ดพันธุ์ให้ได้คุณภาพ ปัญหาพันธุ์ปน และคุณภาพผลผลิตไม่คงที่ สำหรับแนวทางการพัฒนาถั่วลิสงทดแทนการผลิตข้าวนาปรัง ในพื้นที่ไม่เหมาะสม (Agri-Map) ได้แก่ 1) ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อเข้าถึงปัจจัยการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ 2) พัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต 3) บริหารจัดการน้ำและปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ 4) ส่งเสริมการตลาดและสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ และ 5) การสนับสนุนจากภาครัฐด้านงบประมาณและนโยบายเพื่อส่งเสริมการผลิตถั่วลิสง อย่างไรก็ตามการพัฒนาการผลิตถั่วลิสงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรเอง โดยมีเป้าหมาย เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า และสร้างความยั่งยืนให้กับการผลิตทางการเกษตร หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.4 ขอนแก่น โทร. 0 4326 1513 ต่อ 13 หรืออีเมล์ [email protected]

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร