หนอนหัวดำมะพร้าว ศัตรูร้ายของสวนมะพร้าว

86

หนอนหัวดำมะพร้าว ศัตรูร้ายของสวนมะพร้าว

เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลมะพร้าว

สภาพแวดล้อม/สภาพอากาศที่เกิดในช่วงเวลานี้

          อากาศเย็นในตอนเช้า มีฝนตกบางพื้นที่

ระยะการเจริญเติบโตของพืชในช่วงนี้

          มะพร้าวที่ยังไม่ให้ผลผลิตและมะพร้าวที่ให้ผลผลิตแล้ว

ข้อสังเกตลักษณะ/อาการที่อาจพบ

ตัวหนอนเข้าทำลายใบมะพร้าวโดยแทะกินผิวใบบริเวณใต้ทางใบ จากนั้นถักใยนำมูลที่ถ่ายออกมาผสมกับเส้นใยที่สร้างขึ้น นำมาสร้างเป็นอุโมงค์คลุมลำตัวยาวตามทางใบบริเวณใต้ทางใบ ตัวหนอนอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ที่สร้างขึ้นและแทะกินผิวใบ โดยทั่วไปหนอนหัวดำมะพร้าวชอบทำลายใบแก่ หากการทำลายรุนแรงจะพบว่า หนอนหัวดำมะพร้าวทำลายก้านใบทางจั่น และผลมะพร้าว ต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำลงมะพร้าวลงทำลายทางใบหลาย ๆ ทาง พบว่าหนอนหัวดำมะพร้าวจะถักใยดึงใบมะพร้าวมาเรียงติดกันเป็นแพ เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่แล้วจะถักใยหุ้มลำตัวอีกครั้ง และเข้าดักแด้อยู่ภายในอุโมงค์ ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม ดักแด้เพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าดักแด้เพศเมียเล็กน้อย ผีเสื้อหนอนหัวดำมะพร้าวที่ผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่บนเส้นใยที่สร้างเป็นอุโมงค์ หรือซากใบที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวลงทำลายแล้ว ตัวหนอนเมื่อฝักออกจากไข่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม 1 – 2 วัน ก่อนจะย้ายไปกัดกินใบมะพร้าว จึงมักพบหนอนหัวดำมะพร้าวหลายขนาดกัดกินอยู่ในใบมะพร้าวเดียวกัน หากการทำลายรุนแรงอาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้

แนวทางการป้องกัน/แก้ไข ดังนี้

          กรณีที่พบการระบาดปานกลางและระบาดน้อยของหนอนหัวดำมะพร้าวในพื้นที่ ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

  • ทำการเขตกรรม โดยการตัดทางใบส่วนที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวทำลาย ลงมาย่อยสลาย ฝังกลบ หรือจมน้ำทันที เพื่อกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ลดจำนวนประชากรของหนอนหัวดำมะพร้าวได้ง่ายและเร็ว
  • ใช้แบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเจนซีส (Bacillus thuringiensis) อัตรา 80 – 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทางใบ 5 ลิตรต่อต้น ทุก ๆ 7 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง
  • ปล่อยแตนเบียนโกนิโอซัส Goniozus nephantidis ในช่วงเย็นพลบค่ำ อัตรา 200 ตัวต่อไร่ ทุก 7 วัน ติดต่อกัน 4 ครั้ง หรือปล่อยแตนเบียนบราไคมีเรีย Brachymeria nephantidis (แตนเบียนดักแด้หนอนหัวดำมะพร้าว) ในช่วงเย็นพลบค่ำ อัตรา 120 ตัวต่อไร่ ทุก 7 วัน ติดต่อกัน 4 ครั้ง

          กรณีที่พบการระบาดรุนแรง ใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรอย่างเคร่งครัด

ต้นที่สูงน้อยกว่า 4 เมตร

1. การพ่นสารทางใบ ใช้สารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สปินโนแสด 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร     (พิษสูงต่อผึ้ง) หรือ ลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร (พิษสูงต่อกุ้ง) พ่น 1 – 2 ครั้ง ให้ทั่วทรงพุ่ม จะมีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดได้ประมาณ 2 สัปดาห์ กรณีที่มีการปล่อยแตนเบียน ให้พ่นสารเคมีก่อน ประมาณ 2 สัปดาห์ ค่อยทำการปล่อยแตนเบียน กรณีที่มีการเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของหนอนหัวดำมะพร้าวสามารถใช้วิธีการนี้ได้

2. การฉีดสารเคมีเข้าลำต้น โดยเลือกใช้สารเคมี 2 ชนิด ได้แก่ต้นมะพร้าวความความสูง 4 – 12 เมตร ใช้สาร อีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อต้น หรือ อะบาเมกติน 1.8% EC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อต้นต้นมะพร้าวที่สูงเกิน 12 เมตร ใช้สาร อีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อต้น หรือ อะบาเมกติน 1.8% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น ฉีดเข้าที่ลำต้นมะพร้าว โดยใช้ดอกสว่าน 3 – 4 หุน เจาะรูให้เอียงทำมุม 45 องศา จำนวน 1 – 2 รู ตำแหน่งของรูอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 0.5 – 1 เมตร หลังใส่สารใช้ดินน้ำมันตัดให้ได้ขนาดประมาณ 1 ลูกบาศ์นิ้ว อุดตรงรูทันที เพื่อป้องกันแรงดันที่จะทำให้สารไหลย้อนออกมามีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ได้นาน 90 วัน

ไม่แนะนำในมะพร้าวความสูงน้อยกว่า 4 เมตร

อ้างอิงจาก:   ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปทุมธานี

กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร

กรมส่งเสริมการเกษตร