กสก. ชี้เกษตรมูลค่าสูง รายได้เพิ่ม 1.5 เท่า สำเร็จตามเป้า

19

กรมส่งเสริมการเกษตรชี้ เกษตรมูลค่าสูง รายได้เพิ่ม 1.5 เท่า สำเร็จตามเป้าปี 67 พร้อมเดินหน้าปี 68 นำสินค้าเกษตรด้านพืช 200 กลุ่ม ยกระดับรายได้ สู่การพึ่งพาตนเอง

นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า  กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” ตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายพัฒนาแปลงต้นแบบเกษตรมูลค่าสูง 500 ตำบล และยกระดับรายได้สุทธิทางการเกษตรให้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2570  กรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งรับผิดชอบสินค้าด้านพืช แมลงเศรษฐกิจ และบริการเชิงสร้างสรรค์ ได้มีการคัดเลือกพื้นที่และสินค้าเกษตรมูลค่าสูงด้านพืช แมลงเศรษฐกิจ และบริการเชิงสร้างสรรค์ นำร่อง จำนวน 84 กลุ่ม ตั้งเป้ายกระดับรายได้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการให้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่าในปีแรก ผลการดำเนินงานโครงการฯ ภาพรวมในปีที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยหลังเข้าร่วมโครงการปีแรกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 77,495 บาท คิดเป็นร้อยละ 128.66 จากการที่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรได้เข้าไปดำเนินการพัฒนา แก้ไขปัญหา Pain Point ของกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการฯ พัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูงตามหลักการ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

“จากการดำเนินงานในปีแรกพบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาด้านต้นทุนการผลิต รวมถึงปัญหาด้านการตลาดที่เกษตรกรมีความต้องการขยายตลาดจำหน่ายผลผลิต โดยเจ้าหน้าที่และเกษตรกรได้ร่วมจัดทำแผนพัฒนารายสินค้าในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่นกล้วยไม้ของแปลงใหญ่กล้วยไม้ ตำบลหนองนกไข่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร มีเกษตรกรสมาชิก 26 ราย พื้นที่ปลูกกล้วยไม้ 335 ไร่ เดิมมีรายได้ปี 2566 อยู่ที่ 94,500 บาท/ครัวเรือน จากการวิเคราะห์พบปัญหาข้อจำกัดเรื่องโรคแมลงและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ จึงได้ส่งเสริมการใช้กับดักกาวเหนียวเพื่อกำจัดแมลงศัตรูควบคุมการระบาดของโรคและแมลง และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิต เจรจาต่อรองกับต่างประเทศเพื่อส่งออกกล้วยไม้แถบเอเชียมากขึ้น ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ตอบสนองความต้องการของตลาด Modern Trade และตลาดออนไลน์ ส่งผลให้รายได้ในปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 260,061 บาท/ครัวเรือน คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 175.20 จากปี 2566 นอกจากนี้ยังมีสินค้าลำไยของแปลงใหญ่ลำไย ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เกษตรกรสมาชิก 30 ราย พื้นที่ปลูกลำไย 148 ไร่ เดิมมีรายได้ปี 2566 อยู่ที่ 29,000 บาท/ครัวเรือน จากการวิเคราะห์พบปัญหาการพัฒนาคุณภาพการผลิต เกษตรกรขาดความรู้ในการผลิตลำไยคุณภาพ และปัญหาเรื่องการตลาด จึงได้ส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ในการผลิตลำไยคุณภาพ การทำลำไยสดช่อให้ออกผลสม่ำเสมอ และส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดลำไยคุณภาพ ส่งจำหน่ายยังภูมิภาคอื่น ๆ ภายในประเทศ พร้อมทั้งทำตลาดในทุกมิติทั้งแบบ Online และ Offline ส่งผลให้รายได้ในปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 53,100 บาท/ครัวเรือน คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 83.10 จากปี 2566” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2568 กรมส่งเสริมการเกษตรอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลในแบบสัมภาษณ์ข้อมูลพื้นฐานเพื่อประเมินความเหมาะสมสู่การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรโครงการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานและบริการมูลค่าสูง ปี 2568 โดยเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร จัดทำแผนธุรกิจการเกษตรจากความต้องการของเกษตรกรและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ควบคู่ไปกับ การวางรากฐานในการสร้างหรือพัฒนาระบบนิเวศทางการเกษตรที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต สินค้าเกษตรภายในท้องถิ่นนั้น ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ มีคุณภาพที่ดี เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและขายได้ในราคาที่สมเหตุสมผล โดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ภายในท้องถิ่น บูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้งเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม พร้อมด้วยสถาบันการศึกษา และองค์กรทางวิชาการ ในการกำหนดแนวทางพัฒนาการเกษตรของท้องถิ่น ให้เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับรายได้ของครัวเรือนเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล

กรมส่งเสริมการเกษตร