เปิดฤดูกาลไม้ผล แนะชาวสวน 3 เรื่องควรรู้

100

เปิดฤดูกาลไม้ผล ช่วงเตรียมต้น แนะชาวสวน 3 เรื่องควรรู้ รับมือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

ประเทศไทยส่งออกผลไม้ ทำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นมูลค่ารวมกว่าแสนล้านบาท ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกไม้ผลของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 13 ของโลก และมีปริมาณผลผลิตอยู่ในลำดับที่ 16 ของโลก แต่การผลิตผลไม้ของประเทศไทยยังคงประสบปัญหาด้านการผลิต โดยเฉพาะการรับมือกับสภาพอากาศแปรปรวน การแปรรูป การตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงด้านโลจิสติกส์ของผลไม้ไทย ซึ่งหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษาได้ร่วมกันดำเนินการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง

นายพีรพันธ์ คอทอง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการแปลงไม้ผล ปี 2568 ปัจจุบันเป็นระยะพักต้นและเตรียมเข้าสู่ระยะออกดอก สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยน ผู้ผลิตไม้ผลภาคตะวันออก สำหรับการเตรียมการจัดการสวนผลไม้ในสภาพอากาศแปรปรวน โดยผู้มาร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ กับเกษตรกร ใน 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นการจัดการสวนไม้ผลในสภาพอากาศแปรปรวน โดย ผศ.ดร.ยศพล ผลาพล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ประเด็นการจัดการโรคและแมลงศัตรูไม้ผลในสภาพอากาศที่แปรปรวนจนถึงระยะการพัฒนาของดอก โดยคุณสมชาย ฉันทพิริยะพูน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร และประเด็นการพยากรณ์สภาพอากาศเพื่อการวางแผนบริหารจัดการผลิตสินค้าไม้ผลภาคตะวันออก โดยคุณสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา

รู้วิธีจัดการสวนไม้ผล…รับมืออากาศแปรปรวน

ผศ.ดร.ยศพล ผลาพล บอกเล่าเรื่องการจัดการสวนไม้ผลในสภาพอากาศที่แปรปรวนให้มีผลผลิตและคุณภาพที่ดี เกษตรกรต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อไม้ผล รวมถึงปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเจริญเติบโต เช่น อิทธิผลของอุณหภูมิ น้ำ และความชื้น แสง ดินและธาตุอาหารพืช รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผล เช่น ปริมาณน้ำฝน ลม หรือพายุ

ผู้ปลูกไม้ผลควรรู้หลักซิงค์ (SINK) ซอร์ส (SOURCE) รู้ว่าใบของต้นสำคัญ เพราะจะทำหน้าที่ในการสร้างอาหารและไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ถ้าเข้าใจพืช เข้าใจสภาพแวดล้อม เข้าใจปัจจัยการผลิตที่ใช้ และเข้าใจในความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆ ของพืช จะทำให้สามารถเลือกวางแผนการให้น้ำ ให้ปุ๋ย ธาตุอาหารได้อย่างเหมาะสม ลดการสิ้นเปลืองพลังงานหรือใช้เกินความจำเป็น นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างทุเรียน ก่อนที่เกษตรกรจะวางแผนการปรับสภาพอากาศในแปลงทุเรียน จะต้องรู้ความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ เพราะผลของการปรับสภาพอากาศส่งผลต่ออัตราการสังเคราะห์แสงของทุเรียน

รู้โรคและแมลง ทุกช่วงการเจริญเติบโต

คุณสมชาย ฉันทพิริยะพูน กรมวิชาการเกษตร แนะนำวิธีการจัดการแมลงศัตรูพืชแบบผสมผสานในสวนไม้ผล
เป็นวิธีการจัดการศัตรูพืชที่ดีที่สุด ในสภาพอากาศแปรปรวน รักษาแมลงศัตรูธรรมชาติ (ตัวห้ำ ตัวเบียน) และกำจัด
แมลงศัตรูพืชในสวนไม้ผลโดยธรรมชาติ ทั้งนี้ การใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีประโยชน์สูงสุด เช่น การใช้ตามคำแนะนำ ใช้ถูกประเภท ถูกวิธี และหากเกษตรกรเน้นตลาดส่งออก ต้องรู้ข้อจำกัดการใช้สารแต่ละชนิดในเงื่อนไขการส่งออกของแต่ละประเทศอีกด้วย 

รวมถึงเกษตรกรต้องรู้จักการใช้เพื่อวางแผนการใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกวิธี เพื่อรับมือความเสี่ยงและลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น หมั่นสังเกตแปลงอยู่เสมอ เพราะบางอาการอาจจะไม่ได้เกิดจากโรคหรือแมลง เป็นการขาดสารอาหารของพืช หรือหากพบโรคหรือแมลงเพียงเล็กน้อยและจัดการให้ถูกวิธี ก็จะสามารถจัดการได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความเสียหาย เช่น ศัตรูพืชที่พบในช่วงการพัฒนาการของดอก ได้แก่ โรคแอนแทรคโนส เพลี้ยไฟ ไรแดง และในช่วงที่ดอกบาน ควรหว่านเชื้อไตรโคเดอร์มา เพื่อช่วยย่อยสลายกลีบดอก เกสร และผลอ่อนที่ร่วงอยู่ใต้ทรงพุ่มทุเรียน

รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

คุณสมควร ต้นจาน กรมอุตุนิยมวิทยา แนะนำการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เกษตรกรสามารถเข้าไปเช็คสภาพอากาศได้จากเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา ที่สามารถพยากรณ์อากาศด้วยแผนภูมิพยากรณ์อากาศที่สามารถชี้ข้อมูลได้ถึงระดับอำเภอหรือจุดที่ตั้งแปลง แผนที่เสี่ยงฝนตกหนักระดับอำเภอ คาดการณ์พื้นที่แปลงปลูกฝนจะตกหรือไม่ เพื่อวางแผนการให้น้ำ หรือใส่ปุ๋ย ลดความเสี่ยงจากการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดเวทีครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรในการวางแผนจัดการสวนไม้ผล ซึ่งหากเกษตรกรสามารถปฏิบัติและเข้าใจตลอดการเจริญเติบโตของพืช จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงทั้งจากสภาพอากาศแปรปรวน ลดอัตราความเสียหายต่อผลผลิตได้ตลอดฤดูกาลผลิต เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการปรับรูปแบบการทำการเกษตรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและวิธีการที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2568 ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถขอรับคำแนะนำ ได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน

กรมส่งเสริมการเกษตร